แซงก์ชั่น “น้ำมัน” เวเนฯ ปรากฏการณ์ “หัวกะทิ” หนี

“เวเนซุเอลา” มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก โดยรายได้หลักกว่า 95% มาจากการส่งออกน้ำมัน ดังนั้นมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นหายนะครั้งใหญ่ของชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา เพื่อปิดทางรอดของ “นิโคลัส มาดูโร” ให้ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำ

วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมาดูโร ตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแตะระดับ 5 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อให้มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น หวังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอย่างรุนแรง

ปี 2018 เวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันได้เพียง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลงจากระดับ 2 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2017 เป็นการส่งออกน้ำมันในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990

เอพีรายงานว่า ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2019 สหรัฐยกระดับการคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอลา ครอบคลุมอุตสาหกรรมน้ำมัน มุ่งเป้าที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติ “ปิโตรเลออส เดอ เวเนซุเอลา” (PDVSA) เพื่อป้องกันไม่ให้รายได้จากบริษัทน้ำมันแห่งนี้ถูกมาดูโรฉกฉวยผลประโยชน์ได้อีก และเป็นการเคลียร์ทางให้กับ “ฮวน กุยโด” ประธานสมัชชาแห่งชาติ ที่สหรัฐและอีก 40 ประเทศทั่วโลก รับรองให้เป็นประธานาธิบดีโดยชอบธรรม

หากบริษัท PDVSA ต้องการให้ยกเลิกคว่ำบาตรก็ต้องตัดสัมพันธ์กับมาดูโร และถ่ายโอนการควบคุมไปยังประธานาธิบดีรักษาการ สำหรับบริษัทซิทโก โรงกลั่นน้ำมันในเครือ PDVSA จะยังดำเนินกิจการได้ตราบใดที่ส่งรายได้เข้าบัญชีที่ถูกอายัดไว้ในสหรัฐ

“อีวาน เฟรียตส์” หัวหน้าสหภาพแรงงานด้านน้ำมันของเวเนซุเอลา กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานย่ำแย่มากขึ้น หลังจากที่มีการแซงก์ชั่นเพราะสหรัฐเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา ในปีก่อนได้นำเข้าน้ำมันมากถึง 500,000 บาร์เรล/วัน ดังนั้น การแซงก์ชั่นครั้งนี้นอกจากจะสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมัน จะเกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของกลุ่มแรงงานหัวกะทิด้านการขุดเจาะและสำรวจน้ำมันมากขึ้นด้วย

เพราะค่าจ้างแรงงานในธุรกิจน้ำมันต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ที่ 3,500-4,000 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ขณะที่ค่าจ้างในเวเนซุเอลาที่มีปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง จะอยู่ที่เพียง 100-150 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือนเท่านั้น

ชาวเวเนฯกว่า 2.3 ล้านคน ที่อพยพไปประเทศอื่นก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรและแรงงานไร้ฝีมือ

ข้อมูลจากสมาคมระบุว่า ในปี 2018 ชาวเวเนฯที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพขุดเจาะและสำรวจน้ำมัน กระจายตัวอยู่ใน 90 ชาติผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก และคาดว่ามากถึง 4 ล้านคนในปีนี้ โดยประเทศที่มีการอพยพและทำงานมากที่สุด ได้แก่ คูเวต แคนาดา อิหร่าน อิรัก รัสเซีย ลิเบีย ไนจีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นท็อป 10 ของราชาบ่อน้ำมันสำรองมากที่สุดของโลก

นอกจากนี้ การแซงก์ชั่นอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เริ่มส่งผลต่อบริษัทน้ำมันต่างประเทศในเวเนฯด้วย โดย นายแพทริก ปัวยาเน ซีอีโอของโททัล (Total) ยักษ์พลังงานสัญชาติฝรั่งเศส แถลงว่าอพยพพนักงานทั้งหมดออกจากเวเนฯ หลังจากที่บัญชีต่าง ๆ ของบริษัทถูกปิดกั้นจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

ด้าน “อามีร์ ไรชานี” นักวิเคราะห์ด้านละตินอเมริกาของ Clipper Data ติดตามการส่งออกพลังงานทั่วโลกแสดงความเห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรจะทำให้เศรษฐกิจเวเนฯตกที่นั่งลำบาก ประชาชนที่เหลือจะได้รับความเดือดร้อนหนัก แม้ว่าเวเนฯจะมีคลังสมบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก แต่หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาเสถียรภาพทางการเงินได้ ไม่มีเงินจ้างแรงงาน ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำมันดิบเหล่านั้นได้

ทั้งคาดการณ์ว่าการแทรกแซงของสหรัฐและนานาประเทศ มีความเป็นไปได้ 2 ทิศทางในอนาคต คือ ประธานาธิบดีมาดูโรถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหาร และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ และทางที่ 2 วิกฤตจะเลวร้ายถึงขั้นเกิด “สงครามกลางเมือง”