“ญี่ปุ่น” กำลังวิกฤต Super-Ageing Society

“สังคมสูงอายุ” ในญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต โดยปี 2018 สัดส่วนผู้สูงวัยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดเป็นครั้งแรก และกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่” (super-ageing society) ในอีก 4 ปีข้างหน้า

ในวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาพบว่าผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากขึ้นถึง71,238 คน ทุบสถิติเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนเกินกว่า 70,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 49 ติดต่อกัน เทียบกับในปี 1989 ที่มีจำนวนเพียง 3,078 คน

ขณะเดียวกันพบว่าเป็นผู้หญิงสูงวัยมากกว่าผู้ชายถึง 88.1% ตามรายงานของ “เกียวโดนิวส์” โดยข้อมูลดังกล่าวนี้จะเปิดเผยในช่วงใกล้ถึงวันผู้สูงอายุของญี่ปุ่น (Aged Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 16 ก.ย.

“คาสึโนบุ คาโตะ” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฯ กล่าวยอมรับว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตทางด้านประชากรสูงวัย หรือตามการประเมินของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ระบุว่า ประชากรที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีจำนวนเกิน 100,000 คน จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญกับสังคมสูงวัยอย่างเต็มที่

โดยยูเอ็นเรียกสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็น สภาวะประชากรสูงวัยขั้นรุนแรง ซึ่งเคยระบุว่า ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงสิงคโปร์ ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ต้องเตรียมพร้อมโดยด่วน

นายคาโตะได้อ้างข้อมูลของสถาบันประชากรแห่งชาติญี่ปุ่น ที่ประเมินว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า ประชากรสูงวัยอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่นจะมีจำนวนเกินกว่า 100,000 คน และเพิ่มขึ้นแตะระดับที่ 170,000 คน ในปี 2028 ซึ่งหมายความว่า ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างรุนแรง” (super-ageing society)

ขณะเดียวกันอัตราการเกิดในญี่ปุ่นในปี 2018 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 120 ปี อยู่ที่ 918,397 คน ซึ่งจำนวนการเกิดอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2016

นอกจากนี้ยังมีคาดการณ์ว่าภายในปี 2065 จำนวนประชากรญี่ปุ่นจะลดลงเหลือเพียง 88 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีทั้งหมดประมาณ 127 ล้านคน

ทั้งนี้ นายโคอิจิ ฮาตาจิ ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมสวัสดิการสังคมเบื้องต้นในญี่ปุ่น กล่าวว่า สังคมสูงวัยในญี่ปุ่นกำลังตึงเครียด จากปัญหาประชากรวัยแรงงานที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018 พบว่ามีตำแหน่งว่างงานสูงถึง 161 อัตรา ต่อจำนวนผู้สมัครงานทุก ๆ 100 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในรอบ 45 ปี

ขณะที่กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อัตราตำแหน่งว่างงานในปี 2020 อาจจะเพิ่มขึ้นแตะที่ 170 ตำแหน่ง ต่อจำนวนผู้สมัครงาน 100 คน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว

นายฮาตาจิแสดงความกังวลว่า การขาดแคลนประชากรวัยแรงงานในญี่ปุ่นมีส่วนทำให้ประเทศขาดรายได้ ซึ่งกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยตรง ขณะที่รัฐบาลผลักดันให้ “การท่องเที่ยว” เป็นอุตสาหกรรมหลักและเป็นความหวังในการสร้างรายได้ห้กับประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นมีมูลค่ากว่า 4.5 ล้านล้านเยน และเป็นครั้งแรกที่จำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่า 30 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายของภาครัฐยังเพิ่มสูงขึ้น เพราะการสนับสนุนสวัสดิการและนโยบายด้านสาธารณสุขต่าง ๆ รวมถึงเงินบำนาญสำหรับคนสูงอายุที่มากขึ้นตามจำนวนกลุ่มวัยเกษียณ ขณะที่ญี่ปุ่นยังติดอันดับเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกหลายปีต่อเนื่อง โดยผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมสวัสดิการสังคม มองว่า สถานการณ์ด้านรายได้และรายจ่ายของญี่ปุ่นยังอยู่ใน “ภาวะตึงตัว”

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและเตรียมรับมือกับสังคมสูงวัยมาตลอด ทั้งการเพิ่มอายุเกษียณราชการจาก 60 เป็น 65 ปี, การเปิดโอกาสให้กับแรงงานผู้หญิงในหลายอาชีพเพื่อสร้างความเท่าเทียม และการเปิดรับแรงงานชาวต่างชาติมากถึง 350,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

โดยปัจจุบันมีชาวต่างชาติในตลาดแรงงานญี่ปุ่นเพียง 2% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ที่มีอยู่ 10%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ “ดิ การ์เดียน” สื่อของอังกฤษได้ชี้ว่า การปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะต้องการปรับทิศทางและนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น นายเซอิจิ เอโต ที่ขึ้นเป็นรัฐมนตรีดูแลการมีส่วนร่วมในสังคม โดยครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหาสังคมสูงอายุ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัยโดยเฉพาะ

นอกจากนี้นายกฯอาเบะได้แต่งตั้ง “นางเซโกะ ฮาชิโมโตะ” อดีตนักกีฬาสเกตลีลาทีมชาติญี่ปุ่น ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกิจการโอลิมปิก และพาราลิมปิกในโตเกียว ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2020 รวมไปถึงการแต่งตั้งให้นายยาซูโตชิ นิชิมูระ เป็นรัฐมนตรีด้านการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งจะทำงานควบคู่ไปกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม

นักวิเคราะห์มองว่า การแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่นี้ครอบคลุมปัญหาในญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งคาดว่าการระดมคลังสมองใหม่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ รวมไปถึงจัดการกับอุปสรรคในหลาย ๆ ด้านที่นายอาเบะยังไม่สามารถควบคุมได้