ผู้ส่งออกเอเชียเจอ “เบี้ยวเงิน” พุ่ง เสี่ยงขาดเงินหมุน-ล้มละลาย

การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยส่งผลให้ภาคธุรกิจหยุดชะงักลงทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่นอกจากจะเผชิญกับความยากลำบากในการขนส่งสินค้าแล้ว เวลานี้ยังต้องเจอกับปัญหาการชำระเงินค่าสินค้าที่ล่าช้าอีกด้วย ปัญหาดังกล่าวสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อสภาพคล่องธุรกิจและอาจส่งผลให้ผู้ส่งออกหลายแห่งต้องล้มละลาย

ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ระบุว่า การชำระเงินการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่เป็นลักษณะ “เครดิตการค้า” ระยะเวลาราว 30-120 วัน ซึ่งวิธีการดังกล่าวผู้ส่งออกสินค้าจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการได้รับชำระเงินล่าช้า หรืออาจไม่ได้รับชำระเงินเลย

ทั้งนี้ สถานการณ์ระบาดของไวรัสได้สร้างผลกระทบต่อผู้นำเข้าสินค้าที่ไม่สามารถขายหรือกระจายสินค้าออกไปได้ จนส่งผลต่อความสามารถในการชำระเงิน รวมทั้งผู้นำเข้าบางแห่งก็ฉวยโอกาสกล่าวอ้างโควิด-19 ในการจ่ายเงินล่าช้า “เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์” รายงานอ้างอิงผลงานศึกษาของ “แอทเรเดียส” (Atradius) บริษัทผู้ให้บริการประกันสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลสำรวจบริษัทส่งออกกว่า 1,400 แห่ง ใน 6 ประเทศเอเชีย ได้แก่ จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์ พบว่าบริษัทเหล่านี้เผชิญกับปัญหาที่ได้รับชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนดมากขึ้น โดยพบว่าขณะนี้มีใบแจ้งหนี้ (อินวอยซ์) มูลค่ากว่า 52% เลยกำหนดชำระเงินไปแล้ว ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 29.8% เท่านั้น

ประเทศผู้ส่งออกที่เผชิญกับการถูกเบี้ยวเงินมากที่สุดคือ “อินเดีย” โดยเจอปัญหาการชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนดเพิ่มขึ้น 69% ขณะที่ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, จีน และสิงคโปร์ เผชิญกับความเสี่ยงการเบี้ยวเงินเพิ่มขึ้น 67%, 47%, 37% และ 29% ตามลำดับ

นอกจากนี้รายงานวิจัยดังกล่าวยังชี้ว่า บริษัทที่ถูกเบี้ยวเงินกว่า 70% เป็นธุรกิจผู้ส่งออกขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีอำนาจการต่อรองที่ต่ำ อีกทั้งยังมีเงินหมุนเวียนไม่มากนักซึ่งสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะล้มละลาย หากไม่สามารถเก็บเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องได้

“วินเซนต์ กู่” ผู้จัดการใหญ่ของ “แอทเรเดียส” สาขาฮ่องกงเปิดเผยว่า ผลกระทบจากการเบี้ยวเงินที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้บริษัทผู้ส่งออกเอสเอ็มอีของเอเชียจำนวนมากเสี่ยงต้องล้มละลาย

โดยผู้ส่งออกหล่านี้เผชิญกับความลำบากมาตั้งแต่ช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่แล้วจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งทำให้ยอดการค้าระหว่างประเทศเมื่อปี 2019 ติดลบ 2% และสถานการณ์โรคระบาดยิ่งสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจส่งออกมากขึ้น ในกรณีดังกล่าวทาง สภาหอการค้าสากล (ไอซีซี) คาดการณ์ว่า ยอดการค้าระหว่างประเทศของปี 2020 อาจติดลบถึง 30% เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่าบริษัทผู้ส่งออกจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ธนาคารโลกยังคาดการณ์อีกว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบถึง 5.2% มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยิ่งทำให้เกิดการเบี้ยวเงินเพิ่มขึ้น โดยจากภาวะนี้ “อันเดรียส เทช” หัวหน้าฝ่ายการตลาดของแอทเรเดียสกล่าวว่า การจ่ายเงินล่าช้าและการผิดนัดชำระเงินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยปี 2021 และการล้มละลายของธุรกิจส่งออกก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจซ้ำเติมผู้ส่งออก “เอสเอ็มอี” เอเชียก็คือ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน โดย “เอลล์วู้ด รัสเซล” ผู้ร่วมก่อตั้ง “ไซมอนส์ แอนด์ ไซมอนส์” บริษัทที่ปรึกษากฎหมายระดับโลก ระบุว่า ผู้ส่งออกเหล่านี้นอกจากจะเผชิญกับปัญหาถูกเบี้ยวค่าสินค้าแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากธนาคารที่ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อการค้าต่างประเทศสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากธนาคารมองว่าธุรกิจเหล่านี้ยังเผชิญกับความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ยิ่งซ้ำเติมความยากลำบากในการหมุนเงินของธุรกิจส่งออกเอสเอ็มอี และกดดันเกิดการล้มละลายมากขึ้น