‘มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น’ มอบปริญญาโทสาขา ‘วิชานินจา’ ใบแรก

(Photo by Handout / Courtesy of Genichi Mitsuhashi / AFP)

ญี่ปุ่นมีผู้จบการศึกษาหลักสูตร “นินจาศึกษา” ระดับปริญญาโท เป็นครั้งแรก หลังจาก “เกนิชิ มิตซูฮาชิ” อายุ 45 ปี ใช้เวลา 2 ปี เพื่อฝึกฝนทักษะศิลปะการต่อสู้ดังกล่าว พร้อมซึมซับวัฒนธรรมชั้นสูงเกี่ยวกับนินจา

“มิตซูฮาชิ” เป็นนักศึกษาคนแรกที่เรียนจบปริญญาโทสาขานินจา จากมหาวิทยาลัยมิเอะ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบ้านของเหล่านินจาทั้งหลาย

เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า นอกจากการศึกษาค้นคว้าตำราประวัติศาสตร์แล้ว เขายังต้องศึกษาถึงแก่นแท้ของการเป็นนินจาด้วย

ADVERTISMENT

“นินจาจะทำงานเหมือนกับเกษตรกรในตอนเช้าและฝึกศิลปะป้องกันตัวในตอนบ่าย” มิตซูฮาชิกล่าว

เขาจึงต้องปลูกผักและฝึกซ้อมศิลปะป้องกันตัว ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องนินจาจากห้องเรียน ซึ่งมิตซูฮาชิบอกว่า การผสมผสานกันของสิ่งเหล่านี้ ทำให้เขาเรียนรู้แก่นแท้ของการเป็นนินจาอย่างแท้จริง

“มิตซูฮาชิ” กล่าวว่า นินจาเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นมือสังหารในชุดดำ และมีทักษะในการเอาตัวรอดสูง

ADVERTISMENT

“มิตซูฮาชิ” จึงได้เรียน “กังฟู” และศิลปะป้องกันตัวอื่นของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “โชรินจิ เคมโป” หรือวิชาป้องกันตัวของวัดเส้าหลิน

นอกจากนี้ เขายังเปิดโรงเรียนสอนทักษะนินจาของตัวเอง อีกทั้งยังเปิดโรงแรมในท้องถิ่น ระหว่างเรียนต่อปริญญาเอก

ADVERTISMENT
(Photo by HANDOUT / Courtesy of Genichi Mitsuhashi / AFP)

มหาวิทยาลัยมิเอะ ได้ตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับนินจาขึ้นแห่งแรกในโลก เมื่อปี ค.ศ.2017 และเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในปีต่อมา

“ยูจิ ยามาดะ” ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ดูแลศูนย์นินจา ในมหาวิทยาลัยมิเอะ เผยว่า รู้สึกประหลาดใจที่มิตซูฮาชิอุทิศตัวให้กับเรื่องนินจา เพราะทางมหาวิทยาลัย มีทั้งวิชาประวัติศาสตร์และคอร์สฝึกทักษะการเป็นนินจา แต่ไม่คาดคิดว่ามิตซูฮาชิจะเข้ามาเรียนรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของนินจาจริงๆ

สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนเรียนหลักสูตรนินจาศึกษา จะต้องเข้ารับการทดสอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และทำบททดสอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของนินจา

ศาสตราจารย์ยามาดะ บอกว่า แต่ละปี มีผู้เข้ามาสมัครเป็นนักศึกษาปริญญาโทนินจาศึกษานี้ประมาณ 3 คน ถือว่า มีคนที่ต้องการเรียนอยู่ และยังมีการสอบถามมาจากต่างประเทศ แต่…

“คอร์สนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับนินจา ไม่ใช่การจะมาเป็นนินจา” ศาสตราจารย์ยามาดะกล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูล มติชน