“พีตา” เปิดศึก “ไทย” ทารุณลิง สะเทือนตลาดโลกแบน “กะทิไทย”

กรณีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา สื่อไทยรายงานข้อมูลจากบีบีซี ระบุว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษ เริ่มนำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยออกจากชั้นวางสินค้า หลังองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (พีตา) เผยว่า มะพร้าวเหล่านี้มาจากการใช้แรงงานลิงกัง ที่ถูกจับมาจากป่า และถูกนำมาฝึกให้เก็บมะพร้าว

โดยห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขานรับแนวคิดหยุดขายผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย ได้แก่ เวทโทรส, โอคาโด, โค-ออป, และ บู๊ทส์

พีตาระบุด้วยว่า มีฟาร์ม 8 แห่งในไทย บังคับใช้แรงงานลิงเก็บลูกมะพร้าวเพื่อส่งออกไปทั่วโลก โดยลิงตัวผู้เก็บมะพร้าวได้วันละ 1,000 ลูก ขณะที่มนุษย์เก็บได้วันละประมาณ 80 ลูก

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนลิงเพื่อฝึกฝนให้ลิงเก็บผลไม้ ขี่จักรยาน หรือเล่นบาสเก็ตบอล เพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว

พีตา ยังได้เผยแพร่วิดีโอลิงถูกล่ามโซ่กับยางรถยนต์เก่า หรือจำกัดอยู่ในกรงขนาดใหญ่ รวมถึงลิงที่ถูกกักขังในกรงบนกระบะรถบรรทุก ที่เขย่าลูกกรงเพื่อพยายามหนี และลิงอีกตัวที่ถูกผูกเชือกส่งเสียงกรีดร้อง พยายามวิ่งหนีจากผู้ดูแล

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การรณรงค์ของพีตาครั้งนี้เป็นข่าวครึกโครม ส่วนหนึ่งเพราะ “แคร์รี ไซมอนด์” คู่หมั้น “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้รีทวีตข่าวดังกล่าวจากสำนักข่าวเทเลกราฟ พร้อมข้อความว่า…

ห้าง Glad Waitrose, Co-op, Boots & Ocado ให้คำมั่นว่าจะไม่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานลิง ขณะที่ Morrisons ได้นำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานลิงออกจากห้างแล้ว

ถึงเวลาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งจะทำเหมือนกัน

ฉันทราบมาว่า Asda, Tesco & Sainsbury ยังคงขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานลิงอยู่

“ไซมอนด์” รีทวีตข้อความนี้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้ปักหมุดรีทวีตนี้ด้วย จนถึงวันนี้ (7 กรกฎาคม 2563) มีผู้เข้ามากดรีทวีตแล้วกว่า 900 ครั้ง และกดไลก์กว่า 2,300 ครั้ง

สำหรับ “ไซมอนด์” อายุ 32 ปี (อายุห่างจาก “จอห์นสัน” ถึง 24 ปี) เป็นลูกสาวของผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ The Independent เธอเคยทำงานในทีมหาเสียงของ “จอห์นสัน” ด้วย ก่อนจะคบหาดูใจกัน และเพิ่งให้กำเนิดลูกชายของทั้งคู่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ประเด็นการทารุณกรรมลิงนี้กลายเป็นประเด็นร้อน จน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ต้องสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำกรุงลอนดอน ของอังกฤษ เข้าชี้แจงกรณีดังกล่าวกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการ คู่ค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจว่าการนำลิงมาเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน

และเร็วๆ นี้ จะเชิญทูตานุทูตประจำประเทศไทยเข้ามาดูถึงขบวนการผลิต โรงงานการผลิต การเก็บเกี่ยว ว่าไม่ได้มีการนำลิงเข้ามาทรมานแต่อย่างใด

ด้าน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงมะพร้าวพันธุ์เตี้ย สูงเพียง 10-12 เมตร ซึ่งสามารถใช้คนหรือเครื่องมือทางอุตสาหกรรมในการเก็บมะพร้าวได้ ทำให้การใช้ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทยมีน้อยมาก

สาเหตุที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรีบออกมาตอบโต้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการส่งออกกะทิไทย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย เผยว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกะทิไปยัง 119 ประเทศทั่วโลก มูลค่า 411 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 12,766 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4%

ล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2563 ไทยส่งออก 5,073 ล้านบาท หรือ 163 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.5%

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักได้แก่ สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 35% รองลงมา คือ ออสเตรเลีย 9% สหราชอาณาจักร 8%แคนาดา 6% และเนเธอร์แลนด์ 5%

ส่วนในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตต่างนำเรื่องนี้มาล้อเลียน มีไม่น้อยที่มองว่า “พีตา” ไร้สาระ แถมยังเกทับขำๆ ว่า ประเทศไทยนอกจากใช้ลิงเป็นแรงงานเก็บมะพร้าว ยังใช้กบเหลาดินสอ ใช้กระต่ายขูดมะพร้าว ใช้จระเข้มายาแนว ใช้กระทิงแดงชูกำลัง ใช้ม้าลายทำเครื่องครัว ใช้ลิงถือลูกท้อ ใช้ช้างเป็นแฟ้ม ใช้ค้างคาวมาทำปุ๋ย ใช้เสือเป็นปูน ใช้เป็ดล้างห้องน้ำ ใช้ปากกามาเขียน ใช้นกแก้วทำสบู่ ใช้เสือดาวทำยาแก้ไอ ใช้แพนด้าส่งอาหาร ฯลฯ

ด้าน “วัน อยู่บำรุง” โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ลิงเก็บมะพร้าวหาว่าทรมานสัตว์…แบนน้ำมะพร้าวไทย แล้วที่วัวควายไถนา ช้างลากซุง อูฐขนของ ขี่ม้าเล่นโปโล หมาไซบีเรียนลากเลื่อน หนูทดลองยา ยังงี้ทรมานสัตว์ป่าววะ!!!! วันก่อนบ้านกรูยังใช้กระต่ายขูดมะพร้าวอยู่เลย 555

อีกมุมหนึ่ง “สฤณี อาชวานันทกุล” นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน วันนี้ได้โพสต์ข้อความให้ชาวเน็ตฉุกคิดระบุว่า…

กรณีที่ห้างร้านต่างๆ ในอเมริกากับยุโรปทยอยบอยคอตกะทิไทยเพราะ PETA เปิดเผยว่าทรมานลิง อยากพูดสั้นๆ ก่อนว่า การรับมือกับเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลหลักฐานนะคะ ไม่ใช่มองเป็นเรื่องตลกหรือโจ๊กว่า ม้าแข่งฝรั่งไม่ทรมานเหรอ ฯลฯ

การทรมานสัตว์เป็นสิ่งที่ประเทศคู่ค้าไทยหลายประเทศรับไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และ “สวัสดิภาพสัตว์” ทุกวันนี้ก็เป็นประเด็นใหญ่ แม้แต่สัตว์ที่มนุษย์กินก็ต้องผ่านการฆ่าอย่างมีมนุษยธรรม จากคลิปวีดีโอและข้อมูลอื่นๆ ที่ PETA เปิดเผย (ดูลิงก์ด้านล่าง) การที่เขาบอกว่าลิงขึ้นมะพร้าวถูกทรมานก็ “มีมูล” ควรอธิบายดีๆ ว่าเราจะปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่หัวเราะเยาะเขาและไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้ เพราะถ้าลูกค้าไม่ซื้อด้วยเหตุผลนี้ ก็ต้องแก้ไขให้เขาสบายใจ การดันทุรังปฏิเสธว่าปัญหานี้ไม่มีจริง ยิ่งจะทำให้ลูกค้าโกรธและบอยคอตหนักกว่าเดิม

การอ้างว่าในอดีตเคยทำอะไรมา แปลว่าปัจจุบันทำเหมือนเดิมไม่เป็นไร เป็นการแสดงความไม่เข้าใจว่าค่านิยม คุณค่า ฯลฯ ในสังคมล้วนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์เพื่อสิทธิสัตว์ของ “พีตา” ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่พุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย

ย้อนไปเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว “พีตา” เพิ่งเรียกร้องให้มาเลเซียบอยคอตปลากัดนำเข้าจากไทย โดยกล่าวหาว่า ฟาร์มปลากัดไทยเลี้ยงปลาในสภาพที่ไม่อาจยอมรับไม่ได้ บางฟาร์มปล่อยให้ปลานอนพะงาบในตระกร้าที่ไม่มีน้ำ ระหว่างรอขนส่ง

ครั้งนั้น “พีตา” ระบุว่า ปลากัดเหล่านี้ทรมานตั้งแต่นาทีแรกที่เกิดในฟาร์ม จนถึงนาทีที่ตาย

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ซึ่งเป็นเพจทางการของ “พีตา” พบว่ามีการโพสต์คลิปลิงถูกทารุณ พร้อมข้อความว่าระบุว่า ใครเป็นคนเก็บมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำมันมะพร้าวให้คุณ? PET Asia เปิดโปงว่า ลิงเหล่านี้ถูกจับออกมาจากป่า ถูกล่ามโซ่ และถูกบังคับให้เก็บมะพร้าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย โปรดดำเนินการเพื่อช่วยเรายุติอุตสาหกรรมนี้

เมื่อไล่เลียงไปดูโพสต์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อสัตว์ ล่าสุดในวันนี้ (7 กรกฎาคม 2563) มีการโพสต์ข้อความพร้อมคลิปต่อต้านการนำช้างมาแสดงให้นักท่องเที่ยวชม

ข้อความระบุว่า คิดก่อนสัมผัส! ช้างมีประโยชน์แค่ให้คุณจับงวงเล่นหรือเป็นพร็อพให้คุณถ่ายรูปลงอินสตาแกรมเหรอ?

ทุกสถานที่ที่สนับสนุนให้สัมผัสช้างโดยตรง หมายความว่าพวกเขาแคร์เรื่องการหาเงินจากคุณ ไม่ได้แคร์ต่อสุขภาพและความปลอดภัยของช้าง

ในคลิปเป็นการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ฝึกช้างตามสวนสัตว์ในสหรัฐฯ รวมถึงช้างในคณะละครสัตว์

Why Being Allowed to Touch Wild Animals Is a Bad Sign

THINK before you touch! Does an elephant benefit when you pet their trunk or use them as a prop for your Instagram photo?Any place that encourages direct contact with elephants means they care about taking your money, not the elephants’ health and safety.

โพสต์โดย PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) เมื่อ วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2020

วันเดียวกัน “พีตา” ยังโพสต์คลิปและข้อความรณรงค์ให้คนตระหนักถึงความทรมานของวัว เพื่อให้มนุษย์นำนมมาบริโภค ข้อความระบุว่า เมื่อคุณซื้อนมวัว นี่คือสิ่งที่คุณกำลังจ่าย มโนธรรมของคุณโอเคกับเรื่องนี้จริงๆ หรือ?

ในคลิปเป็นภาพชายคนหนึ่งใช้แขนล้วงเข้าไปทางทวารหนักวัว เพื่อช่วยประคองคอมดลูก และช่วยให้หลอดฉีดน้ำเชื้อผ่านเข้าปากมดลูก

Are You Contributing to This?

When you buy cow’s milk, THIS is what you’re paying for 😰 Is your conscience really okay with that?

โพสต์โดย PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) เมื่อ วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2020

ก่อนหน้านั้น “พีตา” ได้โพสต์ภาพวัวพร้อมข้อความว่า ฟาร์มนมแห่งนี้เต็มไปด้วยมูลสัตว์ ที่วัวต้องเดินย่ำเข้าไปเพื่อกินอาหาร

ทำไม “สตาร์บัคส์” ไม่จ่ายเงินเพิ่ม เพื่อเห็นแก่ความน่าเวทนา แล้วเลือกใช้นมวีแกนแทน?

This dairy farm was so full with feces and urine that cows had to wade through it to even get a meal 🤢 So why does…

โพสต์โดย PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2020

แต่แม้จะมีการโพสต์ข้อความและคลิปใหม่ต่อเนื่อง โพสต์ที่ “พีตา” เลือกปักหมุดไว้ด้านบนสุดคือโพสต์ “ลิงถูกทารุณกรรม”


ซึ่งจนถึงวันนี้ (7 กรกฎาคม 2563) มีผู้กดแสดงความรู้สึกมากกว่า 14,000 ครั้ง แสดงความเห็น 2,600 ครั้ง และแชร์ 4,300 ครั้ง