อังกฤษเดิมพันเศรษฐกิจฟื้นตัว จ่าย “โบนัสบริษัท” จ้างงาน เลิก “แจกเงิน” คนตกงาน

REUTERS/Hannah Mckay

สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดครั้งหนึ่งจากการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบถึง 20.4% เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นจำนวนมหาศาล

บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิง “รีโซลูชั่น ฟาวเดชั่น” สำนักวิจัยอิสระของอังกฤษ ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลอังกฤษใช้เงินอัดฉีดไปแล้วกว่า 160,000 ล้านปอนด์ ส่งผลให้มีงบประมาณขาดดุลกว่า 350,000 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 17% ของจีดีพี ขณะที่อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งขึ้นเกินระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1963 ซึ่งตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุดบ่งชี้ว่าการดำเนินนโยบายเยียวยาจำเป็นต้องคำนึงถึงวินัยทางการคลังเช่นกัน

มาตรการเยียวยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงคือมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกพักงานเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 หรือ “furlough scheme” ที่ถูกนำมาใช้นับตั้งแต่ มี.ค. 2020 ซึ่งรัฐบาลเยียวยาให้กับพนักงานที่ถูกพักงานในสัดส่วน 80% ของเงินเดือน โดยซีเอ็นบีซีรายงานว่า โครงการนี้ได้รับเครดิตอย่างมากในการพยุงเศรษฐกิจช่วยเหลือรายได้แก่แรงงานกว่า 9.3 ล้านคน อย่างไรก็ตามบีบีซีระบุว่า มาตรการนี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงกว่า 14,000 ล้านปอนด์/เดือน อีกทั้งยังทำให้ลดแรงจูงใจของแรงงานในการออกไปหางานทำอีกด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดแรงงานในระยะยาว

และล่าสุด (8 ก.ค. 2020) รัฐบาลอังกฤษโดย “ริชี ซูนัก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ได้เสนอแผนเยียวยาเศรษฐกิจอีก 30,000 ล้านปอนด์ ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมาตรการที่เป็นไฮไลต์ของแผนครั้งนี้คือ “back-to-work bonus” เป็นมาตรการที่รัฐบาลจะมอบเงินโบนัสแก่ “ธุรกิจ” ที่กลับมาจ้างงานแรงงานที่ถูกพักงานไปจำนวน 1,000 ปอนด์/คน ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน หลังประเทศเริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจ และเป็นมาตรการใหม่ที่จะนำมาแทน furlough scheme ที่จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. 2020

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า การเปลี่ยนมาตรการช่วยเหลือตลาดแรงงาน “furlough scheme” มาสู่โครงการ “back-to-work bonus scheme” ซึ่งถือว่าแรงจูงใจน้อยกว่าเดิม จึงกลายเป็นการเดิมพันของรัฐบาลว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะฟื้นตัวและภาคธุรกิจจะกลับมาจ้างงานหลังสิ้นสุด furlough scheme หรือไม่ เพราะหากการฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่สดใส ทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่กลับมาจ้างงาน แม้ว่าจะมีเงินโบนัสจากรัฐบาลก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือการว่างงานจำนวนมาก

งานวิจัยของ “เครดิตสวิส” ชี้ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษไม่สามารถฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากการระบาดของไวรัสที่ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมถึงความไม่แน่นอนจากกรณีของ “เบร็กซิต” ที่ยังเป็นปัจจัยซ้ำเติม ดังนั้นภาคธุรกิจจะยังคงไม่เพิ่มการจ้างงานจำนวนมากตามที่รัฐบาลคาดหวัง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 แรงงานกว่า 3.5 ล้านคน จะยังไม่ได้รับการจ้างงาน ซึ่งคิดเป็น 10% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศอังกฤษ

ดังนั้นการยุติมาตรการ furlough scheme ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ นับว่าเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจอย่างยิ่ง โดยคาดว่าภายหลัง 31 ต.ค. 2020 แรงงานหลายล้านจะกลายเป็นผู้ว่างงานและขาดรายได้ทันที ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการบริโภคภายในประเทศและจะย้อนกลับไปทำร้ายเศรษฐกิจของอังกฤษเอง