จับตา อังกฤษ แบน หัวเว่ย ชนวนสงครามการค้าจีน-ยุโรป

Photo by DANIEL LEAL-OLIVAS/AFP)

คำสั่งแบนเทคโนโลยี 5G หัวเว่ยของรัฐบาลอังกฤษตามแรงกดดันของสหรัฐอเมริกาอาจสร้างโมเมนตัมให้ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปทำตาม ขณะที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของหัวเว่ยในยุโรปมีจำนวนมหาศาลซึ่งอาจกระทบต่อการแข่งขันในการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของจีนในอนาคต รัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องตอบโต้และอาจนำมาตรการกีดกันทางการค้ามากดดันยุโรป

โดยเมื่อ 14 ก.ค. 2020 “โอลิเวอร์ โดว์เดิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของอังกฤษ ประกาศว่า รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้บริษัทโทรคมนาคมของอังกฤษยุติการใช้งานอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยอย่างเด็ดขาด และให้ถอดอุปกรณ์ 5G ออกจากเครือข่ายโทรคมนาคมในประเทศทั้งหมดภายในปี 2027 เนื่องจากเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ

ก่อนหน้าประกาศของรัฐบาลอังกฤษ “โรเบิร์ต โอไบรอัน” ที่ปรึกษาความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา (เอ็นเอสเอ) ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศชั้นนำของยุโรป 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ที่กรุงปารีส เพื่อหารือประเด็นความมั่นคง ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็น 5G ของหัวเว่ยด้วย และในวันถัดมารัฐบาลอังกฤษก็ประกาศแบนหัวเว่ย โดยรอยเตอร์สรายงานว่าสหรัฐก็ได้เร่งเดินหน้ากดดันประเทศยุโรปให้แบนหัวเว่ย และการตัดสินใจของ “อังกฤษ” จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อผู้นำประเทศเหล่านี้มากขึ้น

ขณะที่ยุโรปถือเป็นตลาดหลักของ “หัวเว่ย” โดยซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เมื่อปี 2019 หัวเว่ยสร้างรายได้ในยุโรปในสัดส่วนถึง 24% ของรายได้ทั่วโลก และเมื่อต้นปี 2020 หัวเว่ยยังได้ประกาศว่ามีการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ 5G กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลกกว่า 91 ฉบับ ซึ่งเป็นการทำสัญญากับบริษัทโทรคมนาคมในยุโรปถึง 47 ฉบับ หรือมากกว่าครึ่ง จึงกล่าวได้ว่าหากหัวเว่ยถูกตัดขาดออกจากตลาดยุโรปย่อมสร้างผลกระทบต่อบริษัทอย่างมหาศาล และกระทบต่อเป้าหมายของหัวเว่ยที่ต้องการจะเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดสมาร์ทโฟนแทนที่ซัมซุงภายในปี 2020 รวมถึงการเป็นผู้นำโลกในด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม 5G

นอกจากนี้ การแบน “หัวเว่ย” ของยุโรปจะส่งผลต่อการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลกของจีนอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลปักกิ่งย่อมมิอาจอยู่เฉยให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของตนถูกตัดขาดออกจากยุโรป และจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ ในกรณีนี้ “หัว ชุน หยิง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า อังกฤษจะต้องชดใช้ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจครั้งนี้

ซึ่งจีนอาจหยิบยกมาตรการกีดกันทางการค้าขึ้นมาตอบโต้อังกฤษ ซึ่ง “โกลบอล ไทมส์” รายงานอ้างคำกล่าวของ “ซุย หงเจียน” ผู้อำนวยการแผนกยุโรปศึกษา ของ สถาบันการระหว่างประเทศศึกษาแห่งชาติ (ซีไอไอเอส) ซึ่งเป็นคลังสมองด้านกิจการต่างประเทศของรัฐบาลจีน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนและอังกฤษย่ำแย่ลงมาก หลังจากการแบนหัวเว่ย และจะส่งผลให้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่ออังกฤษมากขึ้น ซึ่งสำนักข่าวซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนแห่งนี้ชี้ว่า “ความสัมพันธ์ทางการค้า” ระหว่างอังกฤษและจีนจะถูกกระทบอย่างหนัก จากมาตรการตอบโต้ต่อนโยบายเลือกปฏิบัติของอังกฤษ

และในกรณีที่ประเทศอื่น ๆ ทำตามอังกฤษ จีนก็สามารถดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าต่ออีกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อยุโรป “พอล ทริโอโล” จาก “ยูเรเชียน กรุ๊ปส์” ชี้ว่า จีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของเยอรมนีมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านยูโร/ปี ดังนั้น จีนจึงอาจหยิบยกประเด็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามาตอบโต้ หากรัฐบาลเยอรมนีออกคำสั่งแบนหัวเว่ย

และหากมาตรการกีดกันทางการค้าของจีนถูกงัดขึ้นมาใช้จริง ยุโรปก็อาจจำเป็นต้องตอบโต้กลับด้วยมาตรการเดียวกัน ซึ่งก็จะสร้างสงครามการค้าระหว่างจีนและยุโรปขึ้นมา