รู้จัก “จาง อี้หมิง” เจ้าของ TikTok แอปไร้เดียงสาเขย่าโลก

REUTERS/Shannon Stapleton/File Photo/File Photo

“ติ๊กต๊อก” (Tiktok) แอปพลิเคชั่นคลิปวิดีโอสั้นที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วโลก และพุ่งแรงขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่ทุกคนติดล็อกอยู่ที่บ้านเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยอดผู้ใช้แอปติ๊กต๊อกทั่วโลกถึง 800 ล้านบัญชี และมีการดาวน์โหลดถึง 2 พันล้านครั้ง หลังจากที่แจ้งเกิดเพียง 4 ปี กลายเป็นแอปเขย่าโลก

เมื่อปี 2019 “ไบท์แดนซ์” บริษัทแม่ของติ๊กต๊อกมีรายได้ถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.27 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า1เท่าตัว และทำกำไรถึง 3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท)

“ติ๊กต๊อก” เปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2016 ภายใต้ชื่อ “โถวอิน” ซึ่งเกิดจากไอเดียของ “จาง อี้หมิง” ปัจจุบันอายุ 37 ปี เจ้าของบริษัท “ไบท์แดนซ์”

ถึงแม้ “ติ๊กต๊อก” จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ชีวิต “จาง อี้หมิง” กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ขณะที่คนรอบข้างหลาย ๆ คนบอกว่า จางเป็นคนสุภาพ มีเสน่ห์ มีเหตุผล มุ่งมั่น และฉลาด

สำนักข่าวบิซเนส อินไซเดอร์ รายงานว่า “จาง อี้หมิง” ไม่ค่อยเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ มีชีวิตที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อซึ่งจางเคยบอกว่า ที่บ้านฐานะปานกลาง เรียนด้านวิศวกรซอฟต์แวร์ และได้เริ่มต้นทำงานกับสตาร์ตอัพแห่งหนึ่งมาก่อนที่จะก่อตั้งบริษัทไบท์แดนซ์ของตัวเองในปี 2012

หลังจางตั้งบริษัทไบท์แดนซ์ แอปพลิเคชั่นตัวแรกที่จางสร้างขึ้นคือ “โถ่วเถียว” (Toutiao) แอปพลิเคชั่นรวมข่าว ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ยิ่งมีผู้ใช้แอปพลิเคชั่นมากเท่าไร

เอไอก็จะสามารถจับพฤติกรรมผู้ใช้ ว่าชอบเสพข่าวแบบไหน ประเภทไหน สำนักข่าวไหน และแนะนำข่าวจากแหล่งต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มาไว้บนแอป

“จาง อี้หมิง” ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อปี 2017 ว่า บริษัทไม่ได้ทำธุรกิจข่าว แต่เป็นธุรกิจสำหรับการ “ค้นหา” หรือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากกว่า และเมื่อประสบความสำเร็จก็ได้นำมาใช้ในการสร้าง “ติ๊กต๊อก” และแอปพลิเคชั่นอื่นๆ จนตอนนี้บริษัทข้อมูล “พิทช์บุ๊ค ดาต้า” รายงานว่า บริษัทไบท์แดนซ์มีมูลค่าถึง 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.33 ล้านล้านบาท)

นักวิเคราะห์ Business Disrupters ได้วิเคราะห์ความสำเร็จของแอป “ติ๊กต๊อก” ว่า สิ่งที่ทำให้แอปดึงดูดผู้ใช้อย่างมาก คือการใช้เทคโนโลยีเอไอที่ให้ผู้ใช้สามารถได้ดูคอนเทนต์ที่ต้องการ ยิ่งใช้แอปมากเท่าไร เอไอยิ่งรู้ว่าคนนั้นต้องการวิดีโอแบบไหน และอีกประเด็นสำคัญคือ ติ๊กต๊อกเป็นแอปที่มีความ “ไร้เดียงสา” คือคอนเทนต์เข้าใจง่ายกว่าคู่แข่ง ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

นอกจากนี้ถ้าเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อัลกอริทึ่มของติ๊กต๊อกไม่ได้เจาะจงอยู่เพียงแค่คนที่มียอดไลก์หรือที่มีคนติดตามสูง ๆ เหมือนอย่างยูทูบหรือเฟซบุ๊ก แต่วิดีโอที่ไม่ใช่คนดัง หรือยอดไลก์ไม่สูง ก็สามารถเข้าไปอยู่ในอัลกอริทึ่มที่ผู้ใช้คนอื่นเห็นด้วย ทำให้ทุกคนสามารถโด่งดังได้ข้ามคืน ง่ายกว่ายูทูบ หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ

ศักยภาพของจางในการเลือกใช้เทคโนโลยีเข้าสู่แพลตฟอร์มสร้างวิดีโอเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ติ๊กต๊อกมาแรง และความสำเร็จอาจจะไม่เกิดขึ้น หากไบท์แดนซ์ไม่ได้ตัดสินใจซื้อ “มิวสิคคลี่” (musica.ly) แอปพลิเคชั่นทำวิดีโอสั้น ที่ผู้ใช้สามารถใส่เพลงเพื่อร้องหรือเต้นตามซึ่งเป็นที่นิยมในสหรัฐ ซึ่งหลังซื้อแอปพลิเคชั่นนี้มาเมื่อปี 2017 ทำให้ติ๊กต๊อกได้ฐานผู้ใช้แอปมิวสิคคลี่ในสหรัฐมากด้วย และเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนไตรมาสที่ 1 ปีนี้มีการดาว์นโหลดแอปติ๊กต๊อกในสหรัฐถึง 130 ล้านครั้ง

บลูมเบิร์กรายงานว่า วิสัยทัศน์ของ “จาง” คิดออกไปไกลจากจีน ต่างกับผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในจีนอย่างเทนเซนท์, อาลีบาบา และไป่ตู้ บริษัทเหล่านี้ยังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตยิ่งใหญ่ในจีนก่อนที่จะก้าวออกไปอยู่ระดับโลก โดยนักวิเคราะห์มองว่าการมีวิสัยทัศน์ “นอกประเทศจีน” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไบท์แดนซ์สามารถก้าวขึ้นมาสู้กับ 3 บริษัทยักษ์เทคโนโลยีของจีนได้

ขณะเดียวกันก็มีคนมองว่า “จาง” ทรยศบ้านเกิด ติดกับดักความคิดคนตะวันตก และสมยอมไปกับวัฒนธรรมอเมริกา โดยไม่ได้เน้นสร้างการเติบโตในบ้านเกิด

ความนิยมของติ๊กต๊อกไปเขย่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐ กระทั่ง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า จะปิดตัวติ๊กต๊อกในสหรัฐ เนื่องจากกลัวว่าข้อมูลของผู้ใช้บริการในสหรัฐจะถูกส่งต่อไปยังรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีน ซึ่งทรัมป์ให้ข้อเสนอว่า จะต้องมีบริษัทสหรัฐซื้อติ๊กต๊อกในสหรัฐ หากไม่ทำตามแอปติ๊กต๊อกก็จะถูกปิดตัว

และล่าสุด (19 ก.ย. 2020) ทรัมป์ออกมาแถลงยอมรับเงื่อนไขที่จะให้ “ออราเคิล คอร์ป” และ “วอลมาร์ท” บริษัทยักษ์เทคโนโลยีและยักษ์ค้าปลีกของสหรัฐเข้าถือหุ้น 20% ในบริษัท “ติ๊กต๊อก โกลบอล” ที่จะเข้ามาบริหาร

กิจการติ๊กต๊อกในสหรัฐ และเข้ามาเป็น “เทคโนโลยีพาร์ตเนอร์” จัดการข้อมูลผู้ใช้สหรัฐ สร้างความเชื่อมั่นให้ทรัมป์ ทำให้ติ๊กต๊อกสามารถรักษาฐานลูกค้าถึง 100 ล้านคนในสหรัฐไว้ได้

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีฐานเสียงคนรุ่นใหม่ของทรัมป์ที่เล่นติ๊กต๊อกเช่นกัน การปิดตัวแอปอาจทำให้เสียคะแนนเสียงตรงนั้นไป ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้สุดท้ายไม่ปิดแอปติ๊กต๊อกก็เป็นได้

ติ๊กต๊อกอาจถูกมองว่าเป็นแอปไร้เดียงสา แต่ในยุคแห่งเทคโนโลยี “ติ๊กต๊อก” กำลังถูกมองว่าเป็นศัตรูต่อความมั่นคง ซึ่งอาจจะต่างจากภาพ “ไร้เดียงสา” แต่กลายเป็นตัวอันตรายต่อหลาย ๆ ประเทศ

แม้ว่า “ติ๊กต๊อก” จะเผชิญกับความท้าทายจากการเข้าสู่ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐหรืออินเดีย แต่ก็ไม่เคยมีข่าว “จาง อี้หมิง” หรือผู้บริหารของติ๊กต๊อกออกมาตอบโต้หรือชี้แจงใด ๆ ซึ่งนี่อาจเป็นสไตล์การทำงานของจางที่เน้นการเดินเกมแบบเงียบ ๆ ต่างกับซีอีโอสตาร์ตอัพหลาย ๆ คนที่มักจะออกเป็นข่าวสร้างกระแส