จับตานโยบาย “ไบเดน” ว่าด้วย “สงครามการค้า”

โจ ไบเดน เลือกตั้งสหรัฐ
REUTERS/Kevin Lamarque
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การชิงชัยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายคู่แข่งอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนพรรครีพับลิกัน กับ “โจ ไบเดน” ตัวแทนพรรคเดโมแครต กำลังโหมรณรงค์หาเสียงกันสุดตัว โดยเฉพาะในรัฐที่เป็น “สะวิงสเตต” คือยังสามารถเทไปทางหนึ่งทางใดได้ตลอดเวลา

หลายคนคาดหวังว่าเมื่อ “ไบเดน” กลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือน ม.ค.ปีหน้า ความตึงเครียดที่แผ่คลุมการค้าโลก ด้วยยุทธวิธีขึ้นภาษีศุลกากรและการแซงก์ชั่นของ “ทรัมป์” คงยุติลง

แต่ถ้าใครติดตามการหาเสียงของ “โจ ไบเดน” มาตลอด คงไม่คิดอย่างนั้น

ผู้สันทัดกรณีที่ติดตามแนวนโยบายของไบเดน บอกอย่างมั่นใจว่า การยุติสงครามการค้าไม่ได้อยู่ในรายการ

“ที่ต้องทำ” เป็นอันดับต้น ๆ ของตัวแทนพรรคเดโมแครต เพราะไบเดนประกาศไว้ชัดเจนว่า จะไม่เปิดเจรจาตกลงทางการค้าใหม่ ๆ “จนกว่าจะสามารถทำให้เกิดการลงทุนสำคัญ ๆ ในบ้านของเรา ลงทุนเพื่อแรงงานของเรา และเพื่อชุมชนของเราให้ได้เสียก่อน”

นั่นหมายถึงว่า โจ ไบเดน ให้ความสำคัญสูงมากต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลงทุนในประเทศ มากกว่าที่จะเร่งทำหน้าที่ “พี่ใหญ่ใจดี” แก้ไขปัญหาการค้าให้กับนานาประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานชาวอเมริกัน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของคนอเมริกันแต่อย่างใด

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของไบเดน ที่เรียกกันว่า “บิลด์ แบ็ก เบตเตอร์” วางแนวทางง่าย ๆ ไว้ว่า “เป้าหมายทุกเป้าหมายในการตัดสินใจเกี่ยวกับการค้า จะต้องดำเนินไปให้เอื้อต่อการสร้างชนชั้นกลางอเมริกัน, เอื้อต่อการสร้างงาน, ยกระดับค่าจ้าง และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา”

ฟังดูไม่ต่างกับมาตรการกีดกันทางการค้าของหลายประเทศในอดีต ซึ่งถูกสกัดกั้นไปไม่น้อยด้วย “การค้าเสรี” ในช่วงที่ผ่านมา

อีกตัวอย่างที่สะท้อนถึงแนวทางกีดกันทางการค้าที่ โจ ไบเดน วางแผน ไว้ก็คือ ที่เรียกว่า “บายอเมริกัน” ซื้อแต่ผลผลิตของอเมริกัน มูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไปจนถึงเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ที่ต้อง “เมด อิน อเมริกา”

นี่คือแผนที่จะส่งผลให้เกิดการ “ตัดขาด” คู่แข่งศักยภาพสูง ทั้งจากยุโรปและเอเชียในทันที

ไบเดนบอกว่า รัฐบาลของตน “จะไม่จัดซื้ออะไรที่ไม่ได้ทำในสหรัฐอเมริกาเด็ดขาด” และเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์นี้

ไบเดนประกาศจะ “อุดช่องโหว่” ของรัฐบัญญัติซื้อของอเมริกัน ที่เคยประกาศใช้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำให้หมด “เพื่อไม่ให้การจัดซื้อมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์แต่ละปี กลายเป็นการสนับสนุนงานในต่างแดนและส่งเสริมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ”

ที่น่าสนใจก็คือ “ช่องโหว่” ที่ไบเดนต้องการปิดกั้น ไม่เพียงปรากฏอยู่ในข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) เท่านั้น ยังปรากฏอยู่ในพันธะตามข้อตกลงการค้าของสหรัฐ กับหลายประเทศ ทั้งแคนาดา, เม็กซิโก, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และอื่น ๆ อีกมากมาย

เมื่อมองในมุมของการเมือง การให้ความสำคัญกับเรื่องภายในประเทศเป็นอันดับแรกนี้เข้าใจได้ไม่ยาก “โดนัลด์ ทรัมป์” เคยอาศัยประเด็นว่าด้วยการนำเข้าจากจีนมาใช้เป็นประโยชน์ในการหาเสียงจนประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 โดยเฉพาะในรัฐที่เป็นย่านอุตสาหกรรมอย่าง มิชิแกน, วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย เป็นต้น

ไบเดนไม่ต้องการเดินซ้ำรอย “ฮิลลารี คลินตัน” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะเดียวกัน แผนงาน “บายอเมริกัน” ก็ได้รับความนิยม

จากผู้มีสิทธิออกเสียงสูงมาก ผลโพลของ “เทรด วิสทาส” แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกัน 75% สนับสนุนนโยบายนี้ อีก 40% เชื่อด้วยว่า นโยบายนี้สามารถ “สร้างงานได้มหาศาลมาก”

แต่หากมองในมุมของนานาประเทศซึ่งตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะช่วง 4 ปี

ภายใต้ทรัมป์ ระบบการค้าโลกแทบล่มสลาย WTO กลายเป็นองค์กรที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขเร่งด่วนที่สุด สหรัฐจำเป็นต้องปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนให้อยู่ในสภาพของพันธมิตร ไม่ใช่การเผชิญหน้าอย่างที่เป็นอยู่ ปัญหาแนวคิดที่แตกต่างกับยุโรปที่ยิ่งนับวันยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เรื่องการจัดเก็บภาษี ไปจนถึงข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิความเป็นส่วนตัวของบริษัทอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหลาย ก็ต้องแก้ไข


“โจ ไบเดน” คิดว่าประเทศเหล่านี้สามารถหยุดอยู่กับที่เฉย ๆ ระหว่างที่สหรัฐทำความสะอาดและฟื้นฟูภายในบ้านของตนเองได้หรือ ?