ถอดรหัส ‘จีน-เวียดนาม’ เศรษฐกิจฟื้น ทิ้งห่างเพื่อนบ้าน

“อาดิตยา แม็ททู” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รายงานผลการสำรวจภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เรื่อง “การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน” โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2021 นี้ 2 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือ “จีน” และ “เวียดนาม” จะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทิ้งห่างประเทศอื่น ๆ

เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า “ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี)” จีนปีนี้จะขยายตัว 8.1% เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.6% ขณะที่ประเทศอื่นอย่างเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัว 5.5% เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 4.4% เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.4% ส่วนเมียนมาเศรษฐกิจจะหดตัวถึง -10% จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองจากการรัฐประหารภายในประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากจีนและเวียดนามแล้ว เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกจะขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 4.4% เท่านั้น

โดยเวิลด์แบงก์แบ่งการฟื้นฟูของเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและขยายตัว ได้แก่ จีนและเวียดนาม, เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่ยังไม่ขยายตัว ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัวหรือขยายตัว ได้แก่ หมู่เกาะเล็ก ๆ อย่างฟิจิ ปาเลา และวานูอาตู

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมาจากการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ซึ่งจีนและเวียดนามควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการฉีดวัคซีน

และหลังจากสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้แล้ว ประเทศจีนมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิดเร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค เพราะนอกจากจีนจะมีบริษัทและฐานการผลิตวัคซีนของตัวเอง ยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน รวมทั้งสามารถจัดสรรบริหารการกระจายวัคซีนได้โดยไม่มีปัจจัยภายนอกที่เข้ามาจำกัดอีกด้วย

สำหรับเวียดนามแม้เป็นหนึ่งในประเทศที่ฉีดวัคซีนช้าที่สุด แต่เวียดนามมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่ดีเยี่ยม ทำให้สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ และสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

โดยประเทศที่สามารถจัดการกับการระบาดของโรคโควิดได้ดี จะสามารถวางแผนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนกับจำนวนประชาชนได้ตรงจุด

ขณะเดียวกันประเทศที่ยังพบการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมาก อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็ว กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตามเวิลด์แบงก์ระบุว่า การฉีดวัคซีนยังไม่เพียงพอที่จะขจัดการแพร่ระบาดภายในปีนี้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาดำเนินตามปกติได้

อีกปัจจัยคือ นโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยจีนและเวียดนามได้ออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต อย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าทางการแพทย์ ตามความต้องการของผู้บริโภคช่วงโรคระบาด

เวียดนาม สามารถดึงดูดบริษัทข้ามชาติหลายแห่งเข้าไปปักหลักสร้างฐานการผลิตภายในประเทศได้ อย่าง “แอปเปิล” และ “ซัมซุง” ที่เริ่มลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว จากต้นทุนแรงงานที่ถูกและอัตราการเสียภาษีที่ต่ำกว่าประเทศจีน ขณะที่หลาย ๆ บริษัทวางแผนขยายกิจการธุรกิจภายในเวียดนามต่อไปในปีนี้

ส่วนของประเทศจีน ภาคการผลิตส่วนใหญ่มาจากบริษัทสัญชาติจีนเอง และนโยบายจากทางภาครัฐ ที่มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า กำไรจากภาคการผลิตของจีนช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2021 มากถึง 1.11 ล้านล้านหยวน มากกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปี 2020 ถึง 179%

อย่างไรก็ดี บางประเทศที่ยังพึ่งพารายได้หลักจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ อย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ จะยังคงไม่ฟื้นฟูกลับมาอยู่ในระดับก่อนโรคโควิด-19 ระบาดในปีนี้ อย่างอินโดนีเซีย ไทย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น

นอกจากนี้ประเทศที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดี นโยบายการคลังจากรัฐบาลซึ่งมุ่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งไม่ครอบคลุม จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือแทบไม่ต่างจากครัวเรือนที่สูญเสียรายได้ และโอกาสที่กิจการหนึ่งจะได้รับความช่วยเหลือไม่เกี่ยวข้องกับว่ากิจการนั้นได้รับผลกระทบหรือไม่

โดยถ้าหากไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ นโยบายการคลังถูกคาดหวังให้เข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ในหลาย ๆ ประเทศ ความช่วยเหลือทางการคลังที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้ช่วยเยียวยาอุปสงค์หรือความต้องการที่ขาดหายไป จะทำให้เศรษฐกิจประเทศนั้นฟื้นฟูได้ยาก