เปิดเหตุผล ทำไม “อัลเบิร์ต บูร์ลา” ซีอีโอไฟเซอร์ ถึงปฏิเสธการเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้ฉีดวัคซีนที่บริษัทผลิตขึ้น
วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ “อัลเบิร์ต บูร์ลา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไฟเซอร์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับบริษัทไบออนเทคของเยอรมนี ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงพนักงานของบริษัท ใจความตอนหนึ่งเผยว่าทางบริษัทได้นำระบบกำหนดราคาหลายระดับมาใช้ เพื่อจำหน่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19
โดยขายวัคซีนในราคาแพงให้กับประเทศพัฒนา แต่จะลดระดับราคาลงมาครึ่งหนึ่งสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ส่วนประเทศยากจนนั้นสามารถซื้อได้ในราคาทุน
“ที่ผ่านมามีเพียงประเทศพัฒนาแล้วที่มั่งคั่งเท่านั้น ที่ออร์เดอร์วัคซีนของบริษัท ขณะที่ผมพยายามติดต่อผู้นำของประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำหลายประเทศ เรียกร้องให้เร่งจองวัคซีนของบริษัท เพราะปริมาณการผลิตมีจำกัด” บูร์ลาเผย
จดหมายเปิดผนึกของซีอีโอไฟเซอร์ เผยแพร่หลังมีข้อถกเถียงอย่างหนักเรื่องความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา ที่กำลังขาดแคลนวัคซีนระหว่างเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วที่มั่งคั่งมีการกักตุนวัคซีนจำนวนมาก
หลังมีการรายงานข่าวชิ้นนี้หลายคนเห็นถึงความพยายามในการช่วยเหลือประชากรในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนของซีอีโอไฟเซอร์ เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงวัคซีน แต่เชื่อหรือไม่ว่าผู้บริหารไฟเซอร์คนนี้ เคยยืนกรานว่าเขาจะไม่เป็นคนกลุ่มแรก ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของไฟเซอร์
ใคร ๆ ต่างก็คิดว่าเมื่อไฟเซอร์ผลิตวัคซีนป้องกันโควิดได้สำเร็จ ซีอีโอไฟเซอร์จะเป็นคนแรก ๆ ที่ได้รับการฉีด แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ “อัลเบิร์ต บูร์ลา” เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาไม่ได้อยู่ในกลุ่มช่วงอายุที่สมควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน
“ผมอายุ 59 ปี สุขภาพแข็งแรง ผมไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรก กลุ่มที่ผมอยู่ไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนในตอนนี้” เขาให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก่อนจะยืนยันว่า เมื่อถึงกำหนดที่กลุ่มของเขาได้ฉีดวัคซีน เขาจะฉีดทันที
บูร์ลาให้เหตุผลว่า จากการสำรวจที่ดำเนินการโดยเภสัชกรชี้ให้เห็นว่า ประชาชนจะเต็มใจเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น หากซีอีโอของบริษัทวัคซีนได้รับการฉีดวัคซีนก่อน โดยผู้ตอบแบบสอบถามพิจารณาว่า การฉีดวัคซีนของซีอีโอไฟเซอร์จะเป็นตัวชี้ขาดมากกว่าการฉีดวัคซีนของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสียอีก
“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงต้องหาทางฉีดวัคซีนให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในบริษัท” เขากล่าวและเน้นย้ำว่า ผลิตภัณฑ์วัคซีนของไฟเซอร์นั้นเป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมดที่ได้ยื่นขออนุมัติ พร้อมกับขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในวัคซีน
“มันเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยไม่ได้ใช้ทางลัด” เขากล่าว
สำหรับบุคคลแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค ในสหรัฐฯ ได้แก่ “ซานดร้า ลินด์เซย์” พยาบาลที่อาศัยในเขตควีนส์ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งทำงานในแผนกไอซียูของโรงพยาบาลโรงพยาบาลเลน็อกซ์ฮิลล์ เขตแมนฮัตตัน
อย่างไรก็ตาม หลังการให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีเมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่ามีคลิปพร้อมข้อความว่า ซีอีโอไฟเซอร์ไม่ยอมฉีดวัคซีน ถูกแชร์หลายพันครั้งบนเฟซบุ๊ก
ต่อมาในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 บูร์ลาได้ให้สัมภาษณ์ในสารคดีทางช่อง HBO ว่า เขาเพิ่งได้รับวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทโดสแรก โดยได้รอจนกระทั่งถึงเวลาที่เขาจะได้รับการฉีด ซึ่งเขาเล่าความรู้สึกหลังถูกฉีดวัคซีนว่า เหมือนได้รับการ “ปลดปล่อย”
บูร์ลาบอกอีกว่า เขาแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวฉีดวัคซีนยี่ห้อใดก็ได้ แม้ว่าวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ จะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคตามอาการได้เท่าของไฟเซอร์
“นี่คือการระบาด วัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นวัคซีนที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์” เขากล่าวและว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็จะฉีดวัคซีนอะไรก็ได้ที่หาได้ในตอนนี้”
วันที่ 10 มีนาคม 2564 บูร์ลาได้รับวัคซีนครั้งที่ 2 และได้โพสต์ภาพลงในทวิตเตอร์ ซึ่งถือเป็นการยุติความเข้าใจผิดที่ว่าซีอีโอไฟเซอร์ไม่ยอมฉีดวัคซีนที่บริษัทตัวเองผลิต
บูร์ลาทวีตข้อความด้วยว่า ตื่นเต้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดโดสที่ 2 ของไฟเซอร์/ไบออนเทค ไม่มีอะไรที่ผมต้องการมากไปกว่าคนที่ผมรักและคนทั่วโลก จะได้มีโอกาสเดียวกันนี้
Excited to receive my 2nd dose of the Pfizer/BioNTech #COVID19 vaccine. There's nothing I want more than for my loved ones and people around the world to have the same opportunity. Although the journey is far from over, we are working tirelessly to beat the virus. pic.twitter.com/ES05WPBLJA
— Albert Bourla (@AlbertBourla) March 10, 2021