เเฉ “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” สะเทือนโลก เปิดโปง “ควีนอังกฤษ-รัฐบาลทรัมป์-คนรวย” พัวพันหลบภาษี

AFP Photo/Andrew Milligan

เปิดโปงเอกสารทางการเงินที่รั่วไหลกว่า 13.4 ล้านชิ้น ถูกปล่อยออกมาสั่นสะเทือนโลกอีกครั้ง ในนาม “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” พัวพันนักการเมือง บุคคลที่มีชื่อเสียง อภิมหาเศรษฐีหลายร้อยคนทั่วโลก รวมทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ ที่ต่างแอบนำเงินไปลงทุนในประเทศที่ช่วยหลบเลี่ยงภาษีในประเทศของตัวเอง

พร้อมการเปิดเผยว่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ มีหุ้นอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชาวรัสเซียที่ถูกรัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตร

หนังสือพิมพ์ซุดดอยเชอ ไซตุง ของเยอรมนี เปิดเผยการรั่วไหลของเอกสาร “พาราไดส์ เปเปอร์” ที่ส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายในเบอร์มิวดาของสหราชอาณาจักร อย่าง “แอปเปิลบี”

ก่อนหน้านี้ มีการเปิดโปงในนาม “ปานามา เปเปอร์ส” (Panama Papers) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทางหนังสือพิมพ์ซุดดอยเชอ ไซตุง ได้นำเอกสารดังกล่าวมาเปิดเผย พร้อมความร่วมมือกับสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ หรือ ICIJ ให้สืบสวนกรณีนี้

สำหรับการเกี่ยวพันของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ กับเอกสาร “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” นี้ ในเอกสารระบุว่าพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 10 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 450 ล้านบาทถูกนำไปลงทุนอยู่ในต่างประเทศ

โดยดัชชี ออฟ แลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster) สำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์มูลค่า 500 ล้านปอนด์ หรือราว 22,500 ล้านบาท ได้นำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนในกองทุนที่เกาะเคย์แมน และเบอร์มิวดา อีกทั้งยังมีการพบว่า มีการลงทุนขนาดย่อมกับบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่าหาประโยชน์จากคนยากจนเเละบริษัทค้าเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ที่ค้างค่าภาษี

อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และไม่มีการระบุว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ทรงจ่ายภาษี แต่ก็นำไปสู่คำถามถึงความเหมาะสม

ขณะเดียวกันกลายเป็นเรื่องฮือฮาในฝั่งการเมืองสหรัฐเช่นกัน เมื่อใน “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” ปรากฎชื่อของ “วิลเบอร์ รอสส์” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐว่าได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายกับรัสเซีย หลังมีหุ้นอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชาวรัสเซียที่ถูกรัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตร

ท่ามกลางสถานการณ์การสืบสวนว่า รัสเซียได้สมรู้ร่วมคิดเพื่อพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ เมื่อปีที่แล้วหรือไม่

ทั้งนี้ วิลเบอร์ รอสส์ มีความสัมพันธ์เเน่นเเฟ้นกับผู้นำสหรัฐ โดยเขาเคยช่วยให้ทรัมป์ รอดพ้นจากการล้มละลายในทศวรรษ 1990 และได้รับการตอบแทนด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลของทรัมป์

นอกจากนี้ ยังมีชื่อของลอร์ด แอชครอฟต์ อดีตรองหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ที่อาศัยว่าพำนักถาวรอยู่ในต่างประเทศ ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนรายได้ที่มาจากต่างประเทศให้แก่อังกฤษ โดยเขาได้สถานะนี้ในช่วงที่เป็นสมาชิกสภาขุนนาง

รวมไปถึงผู้ช่วยคนสำคัญของนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่พัวพันกับการโยกย้ายเงินลงทุนของอดีตวุฒิสมาชิกไปต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหลายล้านดอลลาร์ ขณะที่นโยบายใหญ่ของนายทรูโด คือการณรงค์ต่อต้านดินแดนแห่งการเลี่ยงภาษี

สำหรับการเปิดเผยเอกสาร “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของเอกสารกว่า 13.4 ล้านชิ้น ซึ่งจะเปิดเผยข้อมูลด้านการเงินของนักการเมือง, บริษัทข้ามชาติ, คนดัง และคนที่มีทรัพย์สินมหาศาลใช้กองทุน, มูลนิธิ และบริษัทปลอม (shell company) เพื่อปกป้องเงินของตัวเองจากการเสียภาษี