ยักษ์ญี่ปุ่นพัฒนา ‘เทรดวอลซ์’ ‘บล็อกเชน’ หนุนค้าเอเชีย-แปซิฟิก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้บทเรียนกับภาครัฐและภาคธุรกิจในหลายประเทศได้ตระหนักชัดว่า การพึ่งพิงสินค้าจากแหล่งเดียวมีความเสี่ยงอย่างมหาศาล หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ระบบซัพพลายเชนขัดข้อง ซึ่ง “ญี่ปุ่น” ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับบทเรียนดังกล่าว และพยายามแก้ไขปัญหาครั้งนี้ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง “บล็อกเชน” (blockchain)

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ญี่ปุ่นนำโดยภาคเอกชน “เอ็นทีที ดาต้า”, มิตซูบิชิ, เอ็มยูเอฟจี แบงก์ และโตเกียวมารีน แอนด์ นิชิโด ไฟร์ อินชัวรันซ์ ได้ร่วมกันพัฒนาเครือข่ายการค้าด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เรียกว่า “เทรดวอลซ์” (TradeWaltz)

โดยเทรดวอลซ์จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าร่วมระบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นประเภทสินค้า เส้นทางการจัดจำหน่าย และข้อมูลธุรกรรมการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงเชื่อมโยงกับข้อมูลภาครัฐ ที่ทำให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจและค้นหาคู่ค้าที่มีศักยภาพสูงสุดได้ดีขึ้น

ทั้งหมดนี้จะดำเนินการผ่านเครือข่ายบล็อกเชนที่สามารถจัดเก็บและเข้าถึงเอกสารดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากจากงานธุรกรรมเอกสารกระดาษที่ภาคธุรกิจต้องแบกรับ คิดเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทญี่ปุ่นราว 3 แสนล้านเยน/ปี

“เทรดวอลซ์” ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา หลังจากเริ่มทดสอบระบบเมื่อปีที่ผ่านมา และกำลังทดลองดำเนินการในเวียดนาม โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะมีกว่า 5,000 บริษัทในญี่ปุ่น และอีก 6 ประเทศเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมระบบดังกล่าว ได้แก่ เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

หากประสบความสำเร็จ เทรดวอลซ์จะกลายเป็นเครือข่ายการค้าข้ามพรมแดนขนาดใหญ่ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถแสวงหาแหล่งสินค้าทดแทนได้ทันที หากเกิดการปิดกั้นพรมแดนหรือระบบขนส่งขัดข้องที่ทำให้ซัพพลายเชนไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด

เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเครื่องมือช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งญี่ปุ่นได้เรียนรู้จากการปิดกั้นพรมแดนของจีน ที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนสินค้าเวชภัณฑ์อย่างหน้ากากอนามัย ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่พึ่งพิงชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีสัดส่วนการค้ากับ 6 ประเทศเอเชีย-แปซิฟิกราว 20% ของปริมาณการค้าทั้งหมด แต่จากความเสี่ยงในการพึ่งพิงจีนค่อนข้างมาก ทำให้ญี่ปุ่นตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนการค้ากับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งเทรดวอลซ์ก็เป็นหนึ่งในความพยายามดังกล่าว

นอกจากนี้ เทรดวอลซ์ยังมีแผนเชื่อมโยงกับระบบบล็อกเชนการค้าของสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายตลาดและความสามารถในการเข้าถึงซัพพลายเชนที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่จีนไม่ได้เข้ามีส่วนร่วม แม้จะเป็นประเทศที่มีซัพพลายเชนเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เทรดวอลซ์ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ซึ่งหลายบริษัทอาจไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ นอกจากนี้ การเชื่อมโยงกับข้อมูลภาครัฐและระบบราชการในหลายประเทศที่ยังคงยึดติดกับงานธุรการเอกสาร ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมต่อค้าขายผ่านระบบบล็อกเชนของเทรดวอลซ์