สถานทูตสหรัฐ ยันอำนาจกระจาย “ไฟเซอร์” ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทย

ไฟเซอร์บริจาควัคซีนประเทศยากจน 2 พันล้านโดส
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

การบริจาควัคซีนดังกล่าว เป็นการบริจาควัคซีนโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะเดียวกันทางสหรัฐไม่ได้มีอำนาจหรือบทบาทควบคุมการกระจายวัคซีนภายในประเทศไทย

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้มีการแถลงข่าวออนไลน์ เกี่ยวกับการมาถึงของวัคซีน “ไฟเซอร์” จำนวน 1.5 ล้านโดสที่บริจาคโดยสหรัฐ ซึ่งเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (30 ก.ค.)

โดย “ไมเคิล ฮีธ” อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ กล่าวว่า การบริจาควัคซีนดังกล่าวเป็นการบริจาควัคซีนโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแค่ให้ประชาชนภายในประเทศปลอดภัย เพื่อที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับระบุว่า “ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”

อย่างไรก็ดี ได้ระบุว่า ทางสหรัฐไม่ได้มีอำนาจหรือบทบาทควบคุมการกระจายวัคซีนภายในประเทศไทย และทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการกระจายวัคซีนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทางรัฐบาลไทยเคยกล่าวแล้วว่า จะเน้นการจัดสรรวัคซีนไปยังกลุ่มเสี่ยง อย่างบุคลากรด่านหน้า เช่น แพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร บุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ รวมทั้งผู้สูงวัย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า

อย่างไรก็ดี ทางสถานทูตระบุ อยากให้มุ่งเน้นการกระจายวัคซีนไปยังผู้ที่อาศัยอยู่ที่ประเทศไทยทุกคน เพราะไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม ก็ต่างแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและครอบคลุมมากที่สุด รวมทั้งหวังว่าประเทศจะมีการจัดสรรวัคซีนที่เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้

ทั้งนี้ จากกรณีที่ “พันโทหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ” วุฒิสมาชิกสหรัฐ เชื้อสายไทย ได้กล่าวว่า สหรัฐจะส่งวัคซีนให้ไทยทั้งหมด 2.5 ล้านโดสนั้น ทางสถานทูตยืนยันว่าเป็นความจริง โดยวัคซีนที่มาถึงไทยแล้ว 1.5 ล้านโดสนั้นเป็นของไฟเซอร์ แต่อีก 1 ล้านโดสที่จะตามมานั้น ยังคอนเฟิร์มไม่ได้ว่าจะเป็นของบริษัทไหน แต่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และผ่านการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐแล้ว

โดยตอนแรกสหรัฐจะบริจาควัคซีนให้ไทย 1.5 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม พอเห็นความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เลยตัดสินใจบริจาควัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดส

ขณะเดียวกัน ทางสถานทูตระบุว่า สหรัฐได้ร่วมมือกับทางหน่วยงานสาธารณสุขไทยมาตลอด ตั้งแต่การบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงการตรวจจับเคสผู้ติดเชื้อไวรัสแรกที่อยู่นอกประเทศจีน รวมทั้งยังช่วยระบุเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เข้าประเทศไทย และตอนนี้ก็กำลังสนับสนุนการพัฒนาสำหรับการผลิตวัคซีน mRNA เองในประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงกรณีที่ว่า สหรัฐมีความล่าช้าในด้าน “วัคซีนทางการทูต” เมื่อเทียบกับประเทศจีน ที่บริจาควัคซีนให้กับประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนได้เร็วกว่า ทางสถานทูตระบุว่า จริง ๆ อยากให้กระบวนการบริจาควัคซีนคืบหน้าไปเร็วกว่านี้ แต่เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วโควิดระบาดอย่างหนักที่สหรัฐ ประชากรครึ่งล้านเสียชีวิต จึงต้องจัดสรรวัคซีนให้คนภายในประเทศก่อน

รวมทั้งสาเหตุที่วัคซีนค่อนข้างมีความล่าช้า เนื่องจากทางสหรัฐต้องมีการ “ทดลองทางคลินิก” วัคซีนอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพและปลอดภัย นอกจากนี้วัคซีนจากสหรัฐยังเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง จึงทำให้มีความต้องการสูงมาก

และทางสถานทูตระบุด้วยว่า การที่รัฐบาลไทยจะซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ถือเป็นประโยชน์ต่อไทยอย่างมาก พร้อมกับระบุว่า สหรัฐตอนนี้เปรียบเสมือนศูนย์กลางผลิตวัคซีนของโลก และยังเป็นเครือข่ายวัคซีนที่ปลอดภัยอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางสหรัฐสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าบางความคิดเห็นนั้นเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์

ขณะที่ทางการต้องมีการสื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจน และต้องมีการกำจัด “เฟกนิวส์” อย่างที่สหรัฐตอนนี้ ยังมีการแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีน อย่างเช่นการกล่าวหาวัคซีน “อันตราย” เป็นต้น ซึ่งได้ทำให้ชาวอเมริกันไม่ยอมฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม หากยกตัวอย่างการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ที่สหรัฐทั้ง 50 รัฐภายในประเทศมีวิธีรับมือโควิดที่ต่างกัน จึงยากเกินกว่าที่จะระบุได้ว่า วิธีไหนดีที่สุด

ทั้งนี้ การบริจาควัคซีนครั้งนี้อยู่ภายใต้แผนการของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะแบ่งปันวัคซีนโควิด-19 จำนวน 80 ล้านโดสของสหรัฐให้กับนานาประเทศทั่วโลกเพื่อช่วยยุติโรคระบาดใหญ่นี้ โดยในแผนการบริจาคดังกล่าว สหรัฐจะมอบวัคซีนกว่า 23 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย