วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส สหรัฐบริจาค เดินทางถึงไทยแล้ว

วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส สหรัฐฯบริจาค เดินทางถึงไทยแล้ว

เพจสถานทูตสหรัฐเผยภาพวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐบริจาค มาถึงประเทศไทยแล้ว 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยผ่านเฟซบุ๊กว่า U.S. Embassy Bangkok ได้ส่งวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่บริจาคโดยสหรัฐเดินทางถึงไทยแล้ว โดยสามารถติดตามความคืบหน้าของการส่งมอบตลอดทั้งวันนี้

ขณะที่ข่าวสดรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปรับวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้แก่ประเทศไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงเขาไปตรวจสอบสถานที่ส่งเข้าเก็บคลังจัดเก็บวัคซีนด้วยตัวเอง ก่อนที่วัคซีนจะถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บในคลังเก็บวัคซีน ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

เนื่องด้วยวัคซีนไฟเซอร์ต้องผสมการฉีดร่วมกับน้ำเกลือ เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเข้มข้น 1 ขวด ฉีดได้ 6 คน และเมื่อกระจายไปจุดฉีดจะเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้วัคซีนมีอายุสั้นลง จึงต้องเร่งฉีดภายใน 4 สัปดาห์

วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส สหรัฐฯบริจาค เดินทางถึงไทยแล้ว

มาอีก 1 ล้านโดส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พันโทหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐ เชื้อสายไทย เปิดเผยผ่านงานเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “U.S. and Thailand Perspectives on Geostrategic Landscape and Regional Architecture” จัดโดยสถาบัน East-West Center ในกรุงวอชิงตันและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ว่า มีเป้าหมายที่จะบริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับไทย รวม 2.5 ล้านโดส โดยยังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

แผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส

จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการจัดสรรไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ดังนี้

  1. บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน) จำนวน 700,000 โดส
  2. ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย จำนวน 645,000 โดส
  3. ผู้สูงอายุ
  4. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป
  5. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
  6. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักการทูต นักศึกษา จำนวน 150,000 โดส
  7. ทำการศึกษาวิจัย (ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม) จำนวน 5,000 โดส
  8. สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ จำนวน 40,000 โดส

ต้องผสมน้ำเกลือ

วันที่ 29 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวัคซีนมาถึงแล้ว วัคซีนนี้ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส แล้วจึงขนส่งไปในจุดเก็บ และจุดที่จะฉีดให้กับประชาชน ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส


โดยเมื่อจะใช้วัคซีนไฟเซอร์ เจ้าหน้าที่ต้องผสมน้ำเกลือลงไป และวัคซีนนี้อยู่ได้ในเวลาที่จำกัด  โดยจะมีการสอนวิธีผสมวัคซีนต่อไป โดยวัคซีนไฟเซอร์นี้ 1 ขวด สามารถฉีดได้ 6 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนไฟเซอร์ถึงประเทศไทย จะมีการกำหนดแบ่งกลุ่มลงไปฉีด ซึ่งหลักเบื้องต้น ศบค.มีการหารือได้จัดเตรียมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว