จีนตั้งกองทุน 2.1 แสนล้านหยวน แบกหนี้รัฐวิสาหกิจ ‘ซอมบี้’

เงินหยวน

ท่ามกลางภาวะโรคระบาดกำลังส่งผลให้มหาอำนาจอย่าง “จีน” เผชิญภาวะหนี้เพิ่มขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถทำกำไรและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกต่อการถือครองพันธบัตรจีน ทำให้ทางการจีนต้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ทางการจีนได้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อระดมทุนช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจภายในประเทศ” โดยตั้งเป้าสูงถึง 210,000 ล้านหยวน (32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ และเพิ่มความเชื่อมั่นของรัฐวิสาหกิจจีนต่อตลาดทุน

ไม่เพียงแต่ในระดับรัฐบาลกลางเท่านั้น ในระดับท้องถิ่นต่าง ๆ ก็มีจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เทศบาลนครเทียนจิน ที่ตั้งกองทุน 20,000 ล้านหยวน เช่นเดียวกับมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่กำลังพิจารณาตั้งกองทุนช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ โดยดึงแหล่งทุนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม

โดยความช่วยเหลือหลักๆจะเป็นการให้สินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแก่รัฐวิสาหกิจที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน และมีความเสี่ยงจะผิดสัญญาชำระหนี้

ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ของรัฐวิสาหกิจจีนเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน ก.ค. 2020 รัฐบาลจีนได้เคยจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดการกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจมาแล้ว ด้วยเม็ดเงิน 100,000 ล้านหยวน โดยระดมทุนจากบริษัทของรัฐ 31 แห่ง

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมา และสถานการณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ระดับหนี้ของจีนในขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเกือบ 4 เท่าของจีดีพี

ขณะที่ “ฟิตช์ เรทติ้งส์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจจีนที่ผิดนัดชำระหนี้รวมมูลค่าประมาณ 35,650 ล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของมูลค่าตราสารหนี้จีนที่ผิดนัดชำระหนี้ทั้งสิ้น 62,590 ล้านหยวน

รัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมคณะกรรมการสภารัฐกิจจีนเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านหนี้ของรัฐวิสาหกิจระดับมณฑลหรือเทศบาล โดยผลักดันให้ฝ่ายบริหารท้องถิ่นจัดระดมทุนเพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ตามแนวทางของรัฐบาลกลาง

“เอสแอนด์พี โกลบอล” บริษัทวิเคราะห์ทางการเงินระบุว่า การระดมทุนของทางการจีนเพื่อช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ อาจทำให้ความกังวลของนักลงทุนลดลงได้ แต่ความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐในรักษาการจ้างงานจะเป็นการอุ้ม “ธุรกิจซอมบี้” ให้อยู่ต่อไป โดยไม่เกิดการปฏิรูปองค์กรแต่อย่างใด

ขณะที่จีนมีรัฐวิสาหกิจจำนวนมากและบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจจีน โดยปัจจุบันมีอยู่ราว 130,000 บริษัท ครอบคลุมธุรกิจต่าง ๆ มากมาย

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า ก่อนสถานการณ์โรคระบาดในปี 2019 รัฐวิสาหกิจจีนทำกำไรสุทธิรวมราว 1.5 ล้านล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์เพียง 0.7% และในปี 2020 รัฐวิสาหกิจจีนทำกำไรสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านหยวน

“หลุยส์ คูจส์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์กล่าวว่า “จีนกำลังจะเผชิญกับความท้าทายมากมายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หนทางเดียวที่จะสามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นได้ คือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

เช่นเดียวกันกับเอสแอนด์พี โกลบอลที่ชี้ว่า กองทุนช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจของจีนจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ไม่เช่นนั้นในระยะยาวรัฐวิสาหกิจจีนเหล่านี้จะไม่สามารถเติบโตและเต็มไปด้วยปัญหาหนี้ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน