“ค่ายรถ” แห่ลงทุนผลิตชิป หลัง “บาดเจ็บ” เพราะขาดแคลน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ปัญหาการขาดแคลน “ไมโครชิป” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบคอมพิวเตอร์ที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ที่ส่งผลกระทบมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีแต่อย่างใด

นั่นเป็นเพราะว่าหัวใจหลักของปัญหาอยู่ที่ “ดีมานด์” ที่พุ่งขึ้นสูงกะทันหันหลังโควิด-19 ส่อเค้าว่าจะสร่างซาลงในหลายประเทศ มีการเปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เดินทาง ท่องเที่ยวกันมากขึ้น ยิ่งทำให้ไมโครชิปที่อยู่ในหลากสิ่งหลายอย่างตั้งแต่รถยนต์เรื่อยไปจนถึงวิดีโอเกม และดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหลายเป็นที่ต้องการกันมากขึ้น

อุตสาหกรรมรถยนต์ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ด้านหนึ่งเป็นเพราะราคาชิปสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีของ “ฟอร์ด มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา กำไรในไตรมาสล่าสุดหดไปถึงครึ่งเป็นเพราะภาวะขาดแคลนชิป

ว่ากันว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ปีนี้จะผลิตรถยนต์ออกมาน้อยลงอย่างน้อย 5 ล้านคัน เพราะขาดแคลนเจ้าชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญนี้แต่ผู้ผลิตรถยนต์ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ แม้แต่บริษัทอย่างแอปเปิล หรือไมโครซอฟท์ ก็ยอมรับว่าอาจได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนนี้เช่นเดียวกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในหลาย ๆ ด้าน ทางที่แน่นอนทางหนึ่งก็คือ ความเคลื่อนไหวจากผู้ผลิตรายใหญ่ของตลาด ไม่ว่าจะเป็นอินเทล, ซัมซุง หรือทีเอสเอ็มซี ต่างก็วางแผนลงทุนเป็นเงินหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของตนเองในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยได้รับแรงจูงใจจากราคาไมโครชิปที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสำคัญ

ในอีกทางหนึ่ง บรรดาลูกค้าทั้งหลายก็เริ่มปรับตัวเองหันมาแก้ปัญหาด้วยการพึ่งตัวเองกันมากขึ้น แทนที่รอผลผลิตจากผู้ผลิตในตลาดเพียงอย่างเดียว

บทเรียนจากการขาดแคลนครั้งนี้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายราย หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมสำหรับผลิตชิ้นส่วนสำคัญของตัวเองมากยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตของตนเองให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น “โฟล์คสวาเกน” ประกาศแผนการที่จะพัฒนาชิปประมวลผลเพื่อทำหน้าที่ “ผู้ช่วยคนขับรถ” ขึ้นมาเอง ในขณะที่ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่น ๆ รวมทั้งโตโยต้า มอเตอร์ ก็หันมาสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาขึ้นกับบรรดาบริษัทผู้ผลิตชิป

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “โรเบิร์ต บ๊อช” ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของโลกด้านชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศเยอรมนี ก็ตัดริบบิ้นเปิดโรงงานผลิตชิปมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ขึ้นที่เมืองเดรสเดน ในเยอรมนี

ในเวลาเดียวกัน ก็มีความเคลื่อนไหวในทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนชิป ตั้งแต่ความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่วางแผนใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อดึงอุตสาหกรรมนี้กลับเข้ามาอยู่ในประเทศ แทนที่ยักษ์ใหญ่ในการผลิตที่กระจุกตัวกันอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างเช่นทุกวันนี้

ส่วนสหภาพยุโรปก็พยายามผลักดันเพื่อให้ส่วนแบ่งการผลิตไมโครชิปในยุโรปเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ให้ถึงระดับ 20% ของทั้งโลกให้ได้ภายในปี 2030 แม้แต่ในอังกฤษเองก็ออกมาประกาศว่า ชะตากรรมของโรงงานผลิตชิปขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเวลส์ถือเป็นเรื่องสำคัญชนิดเป็นความมั่นคงของชาติไปเลยทีเดียว

นักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวในทางการเมืองที่จะผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชิปขึ้นภายในประเทศ ผ่านการอุดหนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ต่างอะไรจากกระแสชาตินิยมทางเทคโนโลยีที่กำลังพุ่งสูงมากในเวลานี้

ลัทธิชาตินิยมทางเทคโนโลยีเช่นนี้ อาจเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นและส่งผลดีในทางการเมือง แต่ในระยะยาววิธีการเช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นตามมา

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ชิปเป็นสินค้าที่มีวัฏจักร มีขึ้นมีลงและสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนในตัวของมันเองได้ ตามกลไกของราคาและตลาด

เมื่อใดที่การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาวะผลผลิตล้นตลาด

ซึ่งจะส่งผลให้การอุดหนุนมหาศาลจากภาครัฐ กลายเป็นการทุ่มเงินภาษีอากรของประชาชนจำนวนมหาศาลไปรองรับธุรกิจที่ไม่มีความสามารถแข่งขันใด ๆ ได้ในอนาคตนั่นเอง