ทำไม SpaceX ชนะ สงคราม “เที่ยวอวกาศ”

ศึกสงครามธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศระหว่างมหาเศรษฐีโลก 3 คน ได้แก่ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอบริษัทเทสลา ที่ได้ก่อตั้งบริษัท “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) “เจฟฟ์ เบซอส” ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “อเมซอน” ที่ได้ก่อตั้งบริษัทท่องอวกาศ “บลู ออริจิ้น” (Blue Origin) และ “ริชาร์ด แบรนสัน” ผู้ก่อตั้งบริษัทท่องเที่ยวอวกาศ “เวอร์จิ้น กาแล็กติก” (Virgin Galactic) มีความดุเดือดมากในช่วงที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “ริชาร์ด แบรนสัน” ได้เดินทางนอกโลกสู่วงโคจรต่ำบนเครื่องบินจรวด “วีเอสเอส ยูนิตี” ที่ทางบริษัทพัฒนาเอง พร้อมกับได้เผชิญประสบการณ์ “ภาวะไร้น้ำหนัก” ก่อนที่จะบินมาลงจอดบนพื้นโลกได้สำเร็จ

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน “เจฟฟ์ เบซอส” ได้บินขึ้นไปยังอวกาศได้สำเร็จในจรวด “นิวเชปเพิร์ด” ซึ่งเดินทางไปสูง 80 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล ก่อนที่จะลงจอดบนพื้นโลกอย่างปลอดภัยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน นักบินอวกาศมือสมัครเล่น 4 คน นำโดย “แจเรด ไอแซกแมน” นักธุรกิจและนักบินมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ “ชิฟท์โพร์เพย์เมนท์ส” ได้บินเข้าสู่วงโคจรโลก ตามภารกิจ “อินสไพเรชั่น 4” บนยานอวกาศแคปซูลของบริษัท “สเปซเอ็กซ์” โดยยานดังกล่าวขึ้นไปแล่นอยู่บนวงโคจรของโลกเป็นเวลานานถึง 3 วัน ก่อนที่จะตกลงไปในมหาสมุทรแอตแลนติก

และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา “บลู ออริจิ้น” ได้จัดทริปท่องเที่ยวครั้งที่ 2 โดยมีลูกค้าที่ใช้จ่ายค่าบริการแล้ว 2 คน หนึ่งในนั้นคือ “วิลเลียม แชตเนอร์” นักแสดงชาวแคนาดาวัย 90 เจ้าของบท “กัปตันเคิร์ก” ในซีรีส์ดัง สตาร์ เทร็ค ที่ได้ร่วมบินไปด้วย

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ถึงแม้มหาเศรษฐีทั้ง 3 คน จะแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศอย่างดุเดือด อย่างไรก็ตาม “สเปซเอ็กซ์” ของอีลอน มัสก์ ถือว่าเป็นผู้นำในวงการท่องเที่ยวอวกาศอย่างมาก ตามมาด้วย “บลู ออริจิ้น” ของเจฟฟ์ เบซอส และ “เวอร์จิ้น กาแล็กติก” ของริชาร์ด แบรนสัน ที่รั้งท้ายในศึกท่องเที่ยวอวกาศนี้

สาเหตุที่เวอร์จิ้น กาแล็กติก ตามหลังคู่แข่งอย่างมาก เนื่องจากว่าทางบริษัทได้ประกาศเลื่อนไฟลต์ท่องอวกาศออกไปนานถึง 8-10 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดการบินภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหมายความว่า เวอร์จิ้น กาแล็กติก จะไม่มีการเปิดบริการท่องเที่ยวอวกาศให้กับผู้บริโภคทั่วไป จนถึงช่วงปลายปีหน้า

“ไมเคิล คิอาร์โมลี” นักวิเคราะห์จากธนาคารทรุยสท์ ไฟแนนเชียล กล่าวว่า การเลื่อนกำหนดการขึ้นบินอวกาศของเวอร์จิ้น กาแล็กติก ถือเป็นการสูญเสียโมเมนตัมของธุรกิจ โดยเฉพาะหลังคู่แข่งอย่างสเปซเอ็กซ์ และบลู ออริจิ้น ประสบความสำเร็จ ในการเดินหน้าธุรกิจในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งยังถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้แล้ว

รายงานข่าวระบุว่า ถึงแม้เวอร์จิ้น กาแล็กติก จะสามารถจัดไฟลต์บินกับผู้โดยสารขึ้นบนอวกาศ นำหน้าบลู ออริจิ้นไปก่อน 9 วัน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี บลู ออริจิ้น ได้มีการบินไฟลต์ที่มีผู้โดยสารขึ้นอวกาศไปแล้วอีก 1 ครั้ง รวมถึงมีการวางแผนไฟลต์บินที่มีผู้โดยสารอีกครั้งช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งอีก 3 ครั้งในปีหน้า

ขณะที่ลูกค้า 600 คนที่ได้จองตั๋วขึ้นท่องอวกาศกับทางเวอร์จิ้น กาแล็กติก ยังคงต้องรอไปอย่างไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทแทบจะ “เปรียบเทียบไม่ได้” กับสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ เนื่องจากประสบการณ์การท่องเที่ยวอวกาศที่ต่างกับคู่แข่ง

ทั้งนี้ สเปซเอ็กซ์บินเข้าสู่อวกาศในระยะทางที่ไกลกว่ายานของทั้ง 2 บริษัทอย่างมาก รวมทั้งยังเป็นการเดินทางหลายวันบนอวกาศ อย่างล่าสุดที่บินรอบวงโคจรของโลกยาวนานถึง 3 วัน

ขณะที่ยานอวกาศของบลู ออริจิ้น และเวอร์จิ้น กาแล็กติกนั้น เดินทางบนวงโคจรของอวกาศเพียงไม่กี่นาที ก่อนบินกลับเข้าสู่พื้นโลกอีกครั้ง

โดยจากการคำนวณราคา การบิน 1 ครั้งของสเปซเอ็กซ์มีราคาอยู่ราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตกอยู่ที่ประมาณคนละ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาไฟลต์การบินของเวอร์จิ้น กาแล็กติก จะอยู่ที่ระหว่าง 200,000-450,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เหล่านักวิเคราะห์มองว่า สเปซเอ็กซ์ตอนนี้นำหน้าทางนวัตกรรมในหลาย ๆ ด้านอย่างมาก ขณะเดียวกัน นวัตกรรมของยานอวกาศของบลู ออริจิ้น และเวอร์จิ้น กาแล็กติก ยังค่อนข้าง “ล้าหลัง” เมื่อมาเปรียบเทียบกัน


อย่างไรก็ตาม เหล่าเศรษฐีได้หันมาสนใจที่จะบินท่องเที่ยวอวกาศกับเวอร์จิ้น กาแล็กติกมากกว่า โดยเฉพาะหลังจากมีราคาที่ไม่ได้แพงมาก เหมือนกับของสเปซเอ็กซ์