COP26 : โลกกำลังบอกอะไร คำมั่นสัญญาของมหาอำนาจ

COP26 : โลกกำลังบอกอะไรและคำมั่นสัญญาของประเทศมหาอำนาจ
ภาพจาก pixabay

ประชุม COP26 วันแรก เหล่าผู้นำตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ส่วนประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องประเทศมหาอำนาจ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินดูแลสภาพอากาศ

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 รอยเตอร์ส เปิดเผยว่า ในการประชุมสำคัญของสหประชาชาติ มีการเรียกร้องให้ประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก รักษาคำมั่นเรื่องความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อจัดการวิกฤตสภาพอากาศ ขณะที่ผู้สร้างมลพิษรายใหญ่อย่างอินเดียและบราซิลให้คำมั่นครั้งใหม่ ในเรื่องการลดการปล่อยมลพิษ

ในช่วงเริ่มต้นของการประชุมสุดยอด COP26 ระยะเวลา 2 สัปดาห์ ในเมืองกลาสโกลว์ของสกอตแลนด์ ผู้นำระดับโลก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหว ต่างเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจคุกคามอนาคตของโลก

ภารกิจที่ผู้เรียกร้องกำลังเผชิญอยู่นั้นทวีความน่ากังวลขึ้นไปอีก เมื่อกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก 20 ประเทศ ล้มเหลวในการยอมรับข้อตกลงใหม่ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กลุ่มประเทศ G20 เป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 80% ของทั้งโลก และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่งก๊าซเหล่านี้เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และเป็นสาเหตุหลักทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งผลให้คลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมและพายุ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“สรรพสัตว์กำลังหายไป แม่น้ำกำลังเหือดแห้ง และพืชผลของเราก็ไม่ออกดอกออกผลเหมือนเมื่อก่อน โลกกำลังส่งสารบอกเราว่า เราไม่มีเวลาแล้ว” ไซ สุรุย ผู้นำเยาวชนพื้นเมืองอายุ 24 ปี จากป่าฝนอเมซอน กล่าวเปิดงานในกลาสโกว์

COP26 มีเป้าหมายสำคัญในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม รวมถึงเป้าหมายใหญ่ที่ไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่การประชุมครั้งนี้จัดล่าช้าไปหนึ่งปี เนื่องจากการระบาดของโควิด

อย่างไรก็ตาม การที่จะรักษาเป้าหมาย แต่ละประเทศจำเป็นต้องรักษาคำมั่นมากกว่านี้ เพื่อลดการปล่อยมลพิษ และใช้เงินหลายพันล้านเหรียญเพื่อเป็นทุนด้านการจัดการสภาพอากาศสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา  และเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส 2015 ซึ่งเป็นการลงนามของเกือบ 200 ประเทศ

การไม่รักษาคำมั่นจะทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ ซึ่งสหประชาชาติชี้ว่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทวีมากขึ้น

ผู้นำระดับโลกมากกว่า 100 คน ให้คำมั่นว่าจะหยุดตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นคืนผืนป่า และหยุดการทำให้ผืนดินเสื่อมโทรมภายในสิ้นทศวรรษนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนของรัฐและเอกชนจำนวน 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในการรักษาและฟื้นคืนป่าไม้

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนคณะผู้แทนว่า 6 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่วิทยากรคนอื่น ๆ รวมถึงนักเคลื่อนไหวจากประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ออกมากล่าวอย่างดุเดือด

บริอันนา ฟรูเอน จากเกาะโพลินีเซียน รัฐเอกราชซามัว ซึ่งเป็นเกาะที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล กล่าวว่า “เยาวชนในแปซิฟิกได้ออกมาชุมนุมพร้อมกู่ร้องว่า เราไม่ได้กำลังจมน้ำ เรากำลังต่อสู้ นี่คือนักรบของเราที่ส่งเสียงร้องต่อโลก”

เมื่อปี 2552 ประเทศพัฒนาแล้วที่มีส่วนต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด ให้คำมั่นว่าจะจัดหาเงิน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จนถึงปี 2563 เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาจัดการกับผลที่ตามมา พันธสัญญานี้ยังไม่บรรลุผล ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจและความไม่เต็มใจในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ

ผู้นำของประเทศต่าง ๆ เช่น เคนยา บังกลาเทศ บาร์เบโดส และมาลาวี เรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยทำตามสัญญา หลังจากเป้าหมายไม่บรรลุผล

ลาซารัส แมคคาร์ธี ชาเคเวรา ประธานาธิบดีมาลาวีกล่าวว่า การให้คำมั่นว่าประเทศพัฒนาแล้วจะให้เงินกับประเทศด้อยพัฒนา ไม่ถือเป็นการบริจาค แต่เป็นค่าบริการทำความสะอาดต่างหาก

“ทั้งแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาลาวี ไม่ต้องการคำตอบว่า “ไม่” อีกต่อไปแล้ว”

ยักษ์ใหญ่ไม่ร่วมงาน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุด กล่าวในถ้อยแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เพียงต้องทำมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้ทำได้ดีขึ้นด้วย

การที่ สี จิ้นผิง ไม่ปรากฏตัว เช่นเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสามประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ร่วมกับสหรัฐฯและซาอุดิอาระเบีย อาจเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของ COP26

เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนหลายล้านคนของเธอลงนามในจดหมายเปิดผนึกที่กล่าวหาว่า ผู้นำได้ทรยศต่อพันธสัญญา

“นี่ไม่ใช่การฝึกซ้อม แต่เป็นรหัสสีแดงของโลก” เธออ่าน

“ผู้คนนับล้านจะต้องทนทุกข์ ในระหว่างที่โลกของเราถูกทำลายล้าง อนาคตอันน่าสะพรึงกลัวที่จะถูกสร้างขึ้นหรือหลีกเลี่ยงได้ ล้วนอยู่ที่การตัดสินใจของคุณ คุณมีอำนาจในการตัดสินใจ”

ขณะเดียวกัน อินเดียและบราซิล ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุด ต่างใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อให้คำมั่นใหม่ในการลดการปล่อยมลพิษ

ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล ประเทศที่มีการตัดไม้ทำลายป่าในระดับสูง กล่าวว่า “เราจะดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ และหาแนวทางแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน”

นอกจากนี้ บราซิลยังให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับคำมั่นก่อนหน้าที่เคยให้ไว้ที่ 43%

อย่างไรก็ตาม การปรับลดจะคำนวณตามระดับการปล่อยมลพิษเมื่อปี 2548 ที่เป็นบรรทัดฐานที่ได้รับการแก้ไขเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้บราซิลบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

ด้านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ตั้งเป้าหมายปี 2613 ให้อินเดียบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งนับว่าช้ามาก และเกินคำแนะนำทั่วโลกของสหประชาชาติไป 20 ปี

กลุ่ม G20 ล้มเหลวในการปฏิบัติตามเป้าหมายปี 2593 ในการหยุดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของ COP26 ในการประชุมสุดสัปดาห์ที่กรุงโรม พวกเขายังไม่ได้กำหนดเวลาในการเลิกใช้ถ่านหินในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยคาร์บอน

ภัยคุกคามร้ายแรง

ความขัดแย้งในหมู่ผู้ปล่อยก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกี่ยวกับวิธีการลดใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ จะยิ่งทำให้เกิดความคืบหน้ายากขึ้น เช่นเดียวกับความล้มเหลวของประเทศมหาอำนาจที่บอกว่าจะทำตามสัญญา

มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีของบาร์เบโดส เปรียบเทียบเงินจำนวนมหาศาลที่ธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจอัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กับการใช้จ่ายด้านการดูแลสภาพอากาศ

เธอกล่าวว่า “จะมีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองได้หรือไม่ หากหนึ่งในสามของโลกดำรงอยู่อย่างมั่งคั่ง แต่สองในสามอาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล และเผชิญกับภัยร้ายที่คุกคามสวัสดิภาพของเรา”


บรรดาผู้นำระดับโลกปิดฉากวันแรกของ COP26 ที่งานเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งจัดโดย เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และสมาชิกคนอื่น ๆ ของราชวงศ์อังกฤษ ส่วนควีนเอลิซาเบธที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้พักผ่อน ได้ส่งข้อความวิดีโอมา