การประชุม COP26 ถือเป็นความหวังสุดท้ายสำหรับโลก ในการร่วมมือกันเพื่อให้สถานการณ์ทางภูมิอากาศกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาในหลายมิติ ขณะที่กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐสภาไทยประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ”
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าร่วมประชุมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC: COP) ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน 2564 ร่วมกับผู้นำโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงมากถึง 25,000 คน
โดย พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ในวันเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางออกนอกประเทศ หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ก่อนการเดินทางว่า มีความจำเป็นต้องเดินทางไป เพื่อไปแสดงวิสัยทัศน์ให้นานาประเทศเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในความร่วมมือลดภาวะโลกร้อนและก๊าซเรือนกระจก
“ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว กรณีโลกร้อนเกินสององศาขึ้นไปหลายประเทศก็เดือดร้อน เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย น้ำทะเลก็จะสูงขึ้น ประเทศของเราก็มีความเสี่ยง เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และหลายจังหวัด จะทำหน้าที่ของพวกเราให้ดีที่สุดเพื่อชื่อเสียงของคนไทย ชื่อเสียงของประเทศไทย เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ เราต้องยอมรับซึ่งกันและกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
- “ประยุทธ์” บินร่วมประชุม COP26 เผย เสียดายไม่ได้อยู่ร่วมวันเปิดประเทศ
-
“ประยุทธ์” เตรียมบินไปสกอตแลนด์ ร่วมวงผู้นำทั่วโลก ถก COP26
Advertisment
ความสำคัญของ COP26
ก่อนหน้านี้ นายจอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศ สหรัฐอเมริกา เผยว่า การประชุมดังกล่าวถือเป็นความหวังสุดท้ายสำหรับโลก ในการร่วมมือกันเพื่อให้สถานการณ์ทางภูมิอากาศกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง เพราะหากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงพอในอีก 9 ปีข้างหน้า เป้าหมายในระยะยาวเพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกินไป แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
บีบีซีรายงานว่า การประชุมดังกล่าวหรือที่เรียกว่า “การประชุมหลายฝ่าย” (COP) เป็นการประชุมประจำปี ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มีการลงนามตั้งแต่ปี 1992 โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้ลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหลีกเลี่ยงอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวถือเป็นความเคลื่อนไหวและความร่วมมือด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่การลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม รวมถึงเป้าหมายใหญ่ที่ไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า จำเป็นจะต้องลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกให้ได้ 45% ภายในปี 2030 และลดการแพร่กระจายลงจนเหลือ 0 ภายในปี 2050 ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทั่วโลกจะกำหนดแผนตัดลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 ตามที่สัญญาไว้ในความตกลงปารีส
รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีการออกแนวนโยบายมาตรการ ซึ่งส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีส เช่น เร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ให้เร็วขึ้น และเร่งยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าจะมีการออกแนวทาง ลดการตัดต้นไม้ให้น้อยลง รวมถึงการคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น การสนับสนุนงบประมาณสำหรับระบบป้องกันชายฝั่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการออกแนวทางนโยบายมาตรการต่าง ๆ ซึ่งมุ่งให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่ยักษ์ผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินทั่วโลก ยังไม่มีแผนสำหรับการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกินไป
ข้อมูลจากสหประชาชาติรายงานว่า แทนที่หลายประเทศซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จะลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่พบว่าขณะนี้หลายประเทศวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งหมายความว่า จะใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของโลกพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้อย่างแน่นอน
ยุทธศาสตร์ลดก๊าซเรือนกระจกของไทย
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ในงานสัมมนาออนไลน์ Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 ภายใต้แนวคิด “A New Era of Accelerated Actions”การประชุมผู้นำธุรกิจไทยทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสหประชาชาติ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ผมยอมรับว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากปัญหา climate change โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจากน้ำท่วม พื้นที่แนวชายฝั่ง และการทรุดตัวของดิน และเมื่อปี 2563 จาก Global Climate Lisk 2020 ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจาก climate change มาเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
ฉะนั้นในอนาคตประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่ยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ประเทศมีต้นทุนในการบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงควรมีการเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน อย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน”
พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ กำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงพลังงานก็จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2565 รัฐบาลเองก็ได้บรรจุประเด็น climat change ในนโยบายหลักประเทศภายใต้กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน
โดยมีหมุดหมายที่สำคัญคือ หมุดหมายที่ 10 ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยง จากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสองหมุดหมายที่จะตอบประเด็น climate change โดยตรง
ขณะเดียวกันรัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะเป็นกฏหมายครอบคลุมประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ ทั้งการจัดเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจก การลดก๊าซ การปรับตัว และการส่งเสริมหน่วยงาน และองค์กรท้องถิ่นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินการในระดับประเทศ
รวมถึงการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio – Circular – Green Economy Model (BCG Economy Model) เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อันเป็นการต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย ที่เน้นสร้างการเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 เรื่อง climat action รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่น ๆ ได้เร็วขึ้น
“ขณะเดียวกันผมเห็นว่าการแก้ไขปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เป็นอีกแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหา climat change ได้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่มีองค์ความรู้ และมีภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ โครงการปลูกป่าชายเลน จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งได้อีกด้วย
ในเรื่องนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปี 2565 ผมขอเชิญชวนภาคเอกชนมีส่วนร่วมโครงการนี้ รวมทั้งการริเริ่มโครงการอื่น ๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีการปรับตัวตามทิศทาง และรากฐานใหม่ ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ดันใช้รถยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคันในอีก 14 ปี
นายกรัฐมนตรีเผยด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทำความเย็นในการลดละเลิกใช้สารไฮโดรคลอออโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) ที่ทำลายชั้นบรรยากาศและก๊าซเรือนกระจกสูง และล่าสุดมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไห้ฟ้า และเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้
โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2578
“ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การติดตามประเมินการ ดำเนินการตามแผน ที่กำหนดไว้เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเพื่อให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย ปรับตัวและก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามทิศทางของไทยและของประชาคมโลกได้อย่างมั่นใจ”
อัดแพ็กเกจจูงใจซื้อ EV
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการผลักดันแจ้งเกิดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติได้เสนอรัฐบาล คาดว่าในช่วงปลายปี 2564 นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งอัตราภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร กรณีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายก่อนในช่วงแรก
รวมถึงมาตรการอุดหนุนผู้บริโภคเพื่อให้เป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ภายในปี 2573 จะมียอดจดทะเบียนใหม่ภายในประเทศที่เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) เกือบทั้งหมด และผลักดันการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทราว ๆ 1.5 ล้านคัน ใกล้ความจริงมากขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการตอนนี้คือ ภาษีสรรพสามิต แต่ยังตอบไม่ได้ และอาจจะไม่ได้เป็นศูนย์อีกเหมือนที่เคยผ่านมา เพราะที่ผ่านมากำหนดภาษีอัตรา 0% ไปแล้ว แต่ยังไม่มีค่ายใดผลิตรถยนต์อีวีในประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีรายได้จากภาษีด้วย อย่างไรก็ดี ทางกรมสรรพสามิตจะมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย
แต่ที่สำคัญคือในปีหน้าจะมีมาตรการจูงใจให้คนซื้ออีวีออกมาหลากหลาย ซึ่งน่าจะประกาศได้ภายในปลายปีนี้ หลังผ่านงานมอเตอร์เอ็กซ์โปไปแล้ว อย่างในต่างประเทศ รัฐบาลจะซัพพอร์ตเป็นเงินก้อนให้กับคนซื้ออีวีโดยตรง หรือสามารถนำใบเสร็จการซื้ออีวีไปลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ซึ่งแนวทางก็คงไม่ต่างกันมาก นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน ผลผลิตที่ยังไม่ออกมาก รัฐบาลก็มีออปชั่นให้สามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ก่อน โดยแหล่งที่มาของสินค้า ถ้าเป็นประเทศที่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าก็สามารถใช้สิทธิ์นั้นได้เลย
“ตอนนี้พูดได้เต็มปากว่า รัฐบาลชุดนี้พร้อมที่จะคลอดมาตรการจูงใจแบบชุดใหญ่ เพื่อแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว
ลดก๊าซเรือนกระจกในสวนยางพารา
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรทั้งในเรื่องของการเพาะปลูก ผลผลิต ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมทั่วประเทศได้รับผลดังกล่าวเช่นกัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา หรือโครงการลดปริมาณการปล่อย หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่งของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ต่อไป
ขณะที่นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา จะนำสวนยางพารานำร่องจำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อนำข้อมูล ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและผู้ที่สนใจทั่วไป
โดยมีการดำเนินงาน 2 ขั้นตอนคือ ในปี 2565 จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และในปี 2566-2567 ดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด ซึ่งจากการวิจัยในเรื่องคาร์บอนเครดิตพบว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่มีการกักเก็บคาร์บอนได้ดี สามารถเก็บได้ตั้งแต่อายุต้นยาง 1-18 ปี โดยเฉพาะในช่วง 1-5 ปีแรกก่อนเปิดกรีด
เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ พร้อมตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ
แผนพลังงานชาติ มุ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบ กรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน
โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 หรือ พ.ศ. 2608-2613
นอกจากนี้ กพช.ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการระยะเร่งด่วน ด้านต่าง ๆ
1.จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ neutral-carbon economy ได้ในระยะยาว ครอบคลุมการขับเคลื่อนพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน
2.พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) ตามความเหมาะสม อาทิ ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มีการผูกพันเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าที่จำเป็นและสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในระยะยาว การคำนึงถึงต้นทุนและความก้าวหน้าเทคโนโลยีเป็นสำคัญ
3.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ
ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ
ในวาระ COP26 กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐสภาไทยประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ” ดังนี้
ใช้กลไกคณะกรรมาธิการรัฐสภาผลักดันประเด็น “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” เป็นวาระหลัก และผนวกข้อเสนอของภาคประชาชนในแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม รวมถึงยอมรับและให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
รับรองว่ามาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากโรคระบาดและวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นมุ่งส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ตระหนักว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change) และกลยุทธ์ที่โปร่งใสเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างแท้จริง (real zero)
เริ่มจากการปลดระวางถ่านหินและปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล การปฏิวัติระบบอาหาร และลดนโยบายสนับสนุนการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ตลอดจนยุติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ก่อมลพิษ และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่
ป้องกันการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติเหนือสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะทำลายศักยภาพการปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์
คุ้มครองและสนับสนุนสิทธิชุมชนและประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล (supportive economy) และแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและประเทศ