COP26 : จีน สหรัฐ สร้างเซอร์ไพรส์ จับมือแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

COP 26 : จีน จับมือ สหรัฐฯ เผยข้อตกลงลดการปล่อยมลพิษ

สหรัฐอเมริกา-จีน ทำข้อตกลงเพิ่มความร่วมมือแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ลดปล่อยก๊าซมีเทน ยุติการใช้ถ่านหิน สร้างเซอร์ไพรส์ในการประชุม COP26

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า “จอห์น เคอร์รี” ผู้แทนพิเศษด้านภูมิอากาศของสหรัฐ และ  “เซี่ยเจิ้นหัว” ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศความตกลงร่วมกันที่จะร่วมมือในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์

ข้อตกลงด้านสภาพอากาศในปัจจุบันไม่ค่อยมีผลต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยในที่ประชุม COP26 ได้มีการกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ เร่งทำงานในช่วงเวลา 2 วันที่เหลือ

เคอร์รีกล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับจีนว่า “พวกเราร่วมกันกำหนดข้อตกลงเพื่อทำให้ COP26 ประสบความสำเร็จ” พร้อมระบุด้วยว่า “ช่วงเวลานี้ทุกย่างก้าวมีความสำคัญ และการเดินทางของพวกเรายังอีกยาวไกล”

ด้านเซี่ยเจิ้นหัว กล่าวผ่านล่ามว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้จีนแข็งแกร่งขึ้น ตามเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษ ทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกับฝ่ายอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า COP26 จะประสบความสำเร็จและเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

การแถลงการณ์ร่วมกันระบุว่า จีนจะเริ่มยุติการใช้ถ่านหินในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2569 ถึง 2573 และจะลดการปล่อยก๊าซมีเทน

ก่อนที่สองประเทศจะมีข้อตกลงร่วมกัน เหล่าผู้สังเกตการณ์การเจรจาเรื่องสภาพอากาศกังวลกรณีที่ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ไม่เข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง และทางการจีนไม่ได้ให้คำมั่นใหม่ ที่เกินกว่าเป้าหมายเดิม คือการลดคาร์บอนในปี 2603 นอกจากนี้ แผนสภาพอากาศของจีนยังไม่ได้กล่าวถึงการลดปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมถ่านหินที่แพร่หลาย

การทำข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นชัยชนะทางการเมืองสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐ “โจ ไบเดน” ซึ่งพยายามฟื้นฟูความเป็นผู้นำด้านสภาพอากาศของสหรัฐ หลังจากอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ถอนตัวจากข้อตกลงระดับโลกไป

เพื่อบรรลุข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐต้องระงับข้อพิพาทบางอย่างกับจีน ซึ่งรวมถึงประเด็นด้านมนุษยธรรม เช่น การปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของจีน

เคอร์รีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เรามีความจริงใจในเรื่องความแตกต่าง เรารู้ดีว่าพวกเขาเป็นใคร และเราได้ชี้แจงไปแล้ว แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่ของเราในงานนี้ งานของเราคือการดูแลสภาพอากาศ และมุ่งเน้นกับการขับเคลื่อนวาระเรื่องสภาพอากาศให้ก้าวหน้า”

“ฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์” คณะกรรมาธิการสภาพภูมิอากาศแห่งสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวกับรอยเตอร์สว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้มีความหวังมากขึ้น

“เป็นเรื่องน่ายินดีจริง ๆ ที่ทั้งสองประเทศ ซึ่งมีความขัดแย้งกันในหลายเรื่อง ได้มีจุดร่วมบนความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ มันจะช่วยให้เรา และ COP26 บรรลุข้อตกลงได้อย่างแน่นอน”

“เดอร์วู้ด ซาเอล์ค” ประธานสถาบันธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเห็นด้วยเช่นกัน กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐและจีน ถือเป็นความก้าวหน้าที่ควรเป็นตัวกำหนดแนวทางในการปิดงาน COP

ร่างแรกของข้อตกลง COP26 ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศและผู้เชี่ยวชาญ เพราะคำมั่นที่มีในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาสภาพอากาศ

ในช่วง 2 วันสุดท้ายของการประชุม เป้าหมายคือรักษาความหวังที่จะคงอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 ฟาเรนไฮต์) เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงห่างไกล เนื่องจากคำมั่นที่จะลดการปล่อยมลพิษล่าสุด มีขึ้นตั้งแต่การประชุมข้อตกลงปารีส

ตั้งแต่นั้นมา หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่าและพายุ เลวร้ายกว่าที่เคยเกิดขึ้น

กรีนพีซปฏิเสธร่างดังกล่าวเนื่องจากเป็นการรับมือที่ไม่เพียงพอต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเรียกมันว่า “คำขออย่างสุภาพที่หวังว่าประเทศต่าง ๆ อาจจะทำได้มากกว่านี้ในปีหน้า”

ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศโจมตีไปที่ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย ประเทศที่ยากจนกว่าส่วนใหญ่กล่าวหาว่าประเทศมหาอำนาจล้มเหลวในการรักษาสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อจัดการกับหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา การประชุมยังได้บรรลุข้อตกลงจากประเทศและบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากภาคการขนส่ง ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ผลจากการประชุม COP26 จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่จะมีน้ำหนักทางการเมืองของเกือบ 200 ประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีส