ผลวิจัยชี้วัคซีน 3 ชนิด ป้องกันโอไมครอนแทบไม่ได้

วัคซีน 3 ชนิดที่กันโอไมครอนแทบไม่ได้เลย
ภาพจาก Pixabay

ผลวิจัยล่าสุดชี้ วัคซีน 3 ชนิด ป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแทบไม่ได้ พร้อมเผยชื่อวัคซีนที่ระดับการป้องกันโอไมครอนลดลงน้อยสุด

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 บลูมเบิร์กรายงานว่า มีการศึกษาวิจัยพบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 3 ชนิด ผลิตแอนติบอดีต้านสายพันธุ์โอไมครอนได้เพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย ได้แก่ “ซิโนฟาร์ม” ซึ่งผลิตโดยบริษัทของทางการจีน, “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” และ “สปุตนิก” ที่พัฒนาโดยรัสเซีย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และ ฮิวแมบส์ ไบโอเมด เอสเอ บริษัทผลิตยาในสวิตเซอร์แลนด์ วิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีน 6 ชนิด พบว่า มีผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 3 รายจากทั้งหมด 13 ราย ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 โดส แล้วมีผลแอนติบอดีที่สามารถต้านโอไมครอนได้

ส่วนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน พบว่ามีหนึ่งตัวอย่างจาก 12 ตัวอย่างที่ค่าแอนติบอดีลดลง และจาก 11 ตัวอย่างของสปุตนิก ไม่มีสักคนที่มีค่าแอนติบอดีต้านโอไมครอน

การศึกษา ซึ่งยังไม่ได้รับการประเมินคุณภาพก่อนตีพิมพ์ ยังค้นพบด้วยว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันของแอนติบอดีจะลดลงน้อยที่สุด มาจาก 2 เงื่อนไขรวมกัน ได้แก่ การติดเชื้อก่อนหน้านี้ และการฉีดวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ครบ 2 โดส

ระดับแอนติบอดีของคนกลุ่มนี้ลดลง 5 เท่า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดส แต่ไม่มีประวัติติดโควิด ระดับแอนติบอดีจะลดลงถึง 44 เท่า

การศึกษานี้ยังชี้ด้วยว่า วัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายบางชนิดมีเกราะป้องกันโอไมครอนได้เพียงบางส่วน ซึ่งทำให้หลายรัฐบาลมีความกังวลเรื่องการเดินทาง และเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเลี่ยงการระบาดและการล็อกดาวน์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ

โควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 70 เท่า ระบาดไปแล้วอย่างน้อย 77 ประเทศทั่วโลก ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลังตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้


ผลการศึกษาล่าสุดยังพบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค และโมเดอร์นา ครบ 2 โดส มีแอนติบอดีต้านโอไมครอนได้น้อยลงเช่นกัน ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า มีการค้นพบที่สอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้ว่า สูญเสียระดับการป้องกันโอไมครอนอย่างเห็นได้ชัด