“ไต้หวัน” คุมเข้มธุรกิจขายกิจการ สกัดเทคโนโลยีรั่วไหลไปจีน

จีน

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนกับ “ไต้หวัน” เป็นประเด็นปัญหาที่ซับซ้อนและต่างฝ่ายต่างใช้มาตรการด้านต่าง ๆ ตอบโต้กันไปมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลไต้หวันเตรียมออกกฎระเบียบใหม่ เพื่อสกัดกั้นการรั่วไหลของเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนของไต้หวันไปยังจีน นับเป็นสัญญาณความตึงเครียดที่อาจปะทุขึ้นอีกครั้งระหว่างสองฝ่าย

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า กระทรวงการเศรษฐกิจของไต้หวันกำลังเร่งพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ กำหนดให้ภาคธุรกิจเอกชนของไต้หวันต้องยื่นขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล ในกรณีที่ต้องการขายบริษัทในเครือ โรงงาน หรือสินทรัพย์ที่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ให้กับบริษัทจีน

โดยมีเป้าหมายในการป้องกันการถ่ายโอนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีของไต้หวันไปยังจีน โดยเฉพาะเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และชิปที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไต้หวัน ซึ่งการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาบริหารไต้หวันในขณะนี้ โดยคณะกรรมการการลงทุนไต้หวันคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดก่อนสิ้นปีนี้ หรือภายใน ม.ค. 2022

การปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมจากกฎระเบียบเดิม ที่กำหนดให้บริษัทไต้หวันต้องขออนุมัติในกรณีที่ต้องการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างการตั้งบริษัทในเครือหรือการสร้างโรงงาน แต่การขายสินทรัพย์ในจีนให้กับบริษัทจีนสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ เพียงแต่ต้องรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลของไต้หวัน

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นาน หลังจาก “เอเอสอี กรุ๊ป” บริษัทผู้ให้บริการประกอบและทดสอบผลิตภัณฑ์ชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกของไต้หวัน ประกาศขายโรงงาน 4 แห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ให้กับ “ไวส์ โรด แคปปิทัล” กองทุนส่วนบุคคลของจีน ด้วยมูลค่า 1,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ยังมีบริษัทไต้หวันอีกหลายรายที่ขายสินทรัพย์ในจีน เช่น “ไลต์ ออน” (Lite-On) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไต้หวัน ได้ทยอยขายหุ้นทั้งหมดของบริษัทในเครือซึ่งตั้งอยู่ในเมืองซูโจว ให้กับบริษัทจีนตั้งแต่ปี 2017 โดย “ชิงหวา ยูนิกรุ๊ป” บริษัทเซมิคอนดักเตอร์จีนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด

ขณะที่ “แคตเชอร์ เทคโนโลยี” บริษัทไต้หวันที่เป็นซัพพลายเออร์เคสไอโฟนรายใหญ่ของแอปเปิล ก็ขายโรงงานในจีนให้กับบริษัทซัพพลายเออร์จีน “เลนส์ เทคโนโลยี” ในปี 2020 ส่วน “วิสตรอน” บริษัทประกอบชิ้นส่วนไอโฟนรายใหญ่ก็ขายโรงงานในเมืองคุนซาน ให้กับ “ลักซ์แชร์” บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของจีน ในปีเดียวกัน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า ที่ผ่านมาบริษัทไต้หวันมีการลงทุนขยายกิจการในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีเม็ดเงินลงทุนราว 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลของกระทรวงการเศรษฐกิจไต้หวัน แนวโน้มการขายสินทรัพย์ให้กับบริษัทจีนจึงเป็นข้อกังวลของรัฐบาลไต้หวัน ท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ดุเดือดในเวลานี้

“หลู่ เฉินฮุย” โฆษกคณะกรรมการการลงทุนไต้หวันระบุว่า “เราเห็นช่องโหว่ในกฎระเบียบปัจจุบันที่ต้องได้รับการแก้ไข แม้ว่ากรณีของแคตเชอร์และวิสตรอนจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไม่มาก แต่ก็เผยให้เห็นโอกาสในการรั่วไหลของเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนในอนาคต”

นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมและสภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันยังกำลังพิจารณากฎระเบียบใหม่ กำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญที่เคยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวันต้องขออนุมัติ หากต้องการเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า

แม้กฎระเบียบดังกล่าวจะมีเป้าหมายในการป้องกันผู้เชี่ยวชาญไม่ให้เปิดเผยความลับทางการค้าและเทคโนโลยีที่สำคัญของไต้หวัน แต่ก็สร้างความกังวลต่อภาคอุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญ ใน
การตัดสินใจร่วมงานกับโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากทางการไต้หวัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของไต้หวันในระยะยาวได้