แก้ปัญหาหมูแพง ไบเดน ทุ่มพันล้านดอลลาร์

ไบเดน ทุ่มพันล้านดอลลาร์ แก้ปัญหาหมูแพง
FILE PHOTO: REUTERS/Karl Plume

ปธน.ไบเดน เปิดแผนทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์ หนุนเกษตรกรรายย่อยสู้นายทุน แข่งขันอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์

วันที่ 4 มกราคม 2565 รอยเตอร์รายงานว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนใช้เงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตและเกษตรผู้ผลิตเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกรายย่อย แก้ปัญหาราคาเนื้อสัตว์แพง โดยว่าเหตุที่ราคาเนื้อสัตว์บริโภคราคาสูงขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ถูกครอบงำผูกขาดโดยบริษัทผู้ผลิตเนื้อขนาดใหญ่จำนวนหนึ่ง ทำให้กระทบต่อผู้บริโภค

รายงานระบุว่า จากการสำรวจราคาทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู หลายพื้นที่ทั่วสหรัฐต่างปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุจากโรงชำแหละ และบรรดาผู้ผลิตเนื้อรายใหญ่ฮั้วร่วมกัน โดยอ้างสารพัดเหตุผลทั้งโรคระบาด ขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนราคาค่าขนส่ง ทำให้จำเป็นต้องขึ้นราคา ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทเนื้อรายใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้น

“ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันไม่ใช่ทุนนิยม แต่เป็นการเอารัดเอาเปรียบ .. นั่นคือสิ่งที่เราเห็นในอุตสาหกรรมเนื้อและสัตว์ปีกขณะนี้” ผู้นำสหรัฐกล่าว

สอดคล้องกับคำแถลงของโฆษกทำเนียบขาวที่ระบุว่า “ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราพบว่าอุตสาหกรรมจำนวนมากถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งซึ่งควบคุมธุรกิจและโอกาสส่วนใหญ่ เอกชนเหล่านี้มีอิทธิพลเหนือตลาด การขึ้นราคาทำให้ครอบครัวอเมริกันมีทางเลือกบริโภคที่ลดลง ขณะเดียวกันก็บีบคั้นเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย .. ดังที่เห็นในอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกเป็นตัวอย่าง”

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ต้นทุนราคาเนื้อสัตว์ในสหรัฐที่สูงขึ้นถือเป็นหนึ่งในปัญหาเงินเฟ้อที่รัฐบาลไบเดนพยายามควบคุม เนื่องจากต้นทุนราคาผู้บริโภค (Consumer prices) ที่สูงขึ้น ดังเห็นได้จากการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนพฤศจิกายนพุ่งสูงเป็นอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2525

สำหรับแผนช่วยเกษตรกรรายย่อยของผู้นำสหรัฐ นอกจากการออกข้อบังคับใหม่เพื่อจำกัดบรรดาเอกชนรายใหญ่แล้ว จะรวมถึงการจัดสรรงบประมาณมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์จากกองทุน “American Rescue Plan” ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับใช้ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เพื่อส่งเสริมเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย ขยายกำลังการผลิตและแปรรูปเนื้ออิสระจากบรรดากลุ่มทุน

ความคืบหน้านี้มีขึ้นหลังจากที่ ประธานาธิบดีไบเดน เรียกบรรดาผู้แทนจากสหภาพการเกษตรและปศุสัตว์ เข้าหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยผู้นำสหรัฐได้แถลงหลังการหารือว่า แม้ผู้บริโภคจะจ่ายราคาเนื้อสัตว์ต่างๆแพงขึ้น ทว่าเกษตรกรยังได้ส่วนแบ่งผลกำไรที่น้อยลง อาทิ เกษตรการผู้เลี้ยงโตได้เงินเพียง 39 เซนต์ต่อทุกๆหนึ่งดอลลาร์ที่ชาวอเมริกันซื้อเนื้อ หากเทียบกับ 60 เซนต์เมื่อ 50 ปีก่อน

“บริษัทใหญ่ กำลังทำกำไรมหาศาล ผลกำไรของพวกเขาเพิ่มขึ้น ราคาเนื้อที่คุณเห็นในร้านที่สูงขึ้น แต่ราคาที่เกษตรกรได้รับสำหรับผลิตภัณฑ์ที่พวกเขานำออกสู่ตลาดกลับลดลง สิ่งนี้สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดถูกบิดเบือนเนื่องจากขาดการแข่งขัน” ไบเดนกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากทำเนียบขาวระบุว่า บริษัทด้านเนื้อสัตว์แปรรูปรายใหญ่ 4 แห่งของสหรัฐ ทั้ง คาร์กิลล์, ไทสัน ฟู้ด, เจบีเอส และเนชั่นแนล บีฟ แพคกิ้ง ชิงส่วนแบ่งตลาดเนื้อหมู วัว และไก่ ราว 55-85%