สำรวจแนวรบรัสเซีย “ปูติน” ถือแต้มต่อเหนือยูเครน

Photo by Alexey NIKOLSKY / Sputnik / AFP

เปิดยุทธศาสตร์รัสเซียบุกยูเครน ศึกประจันหน้านาโต้-สหรัฐ ที่มอสโกถือไพ่เหนือกว่า

วันที่ 25 มกราคม 2565 สถานการณ์เผชิญหน้าในยูเครนระหว่างรัสเซียกับกลุ่มชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น หลังจากที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐสั่งระดมกำลังพลทหารกว่า 8,500 นาย เตรียมความพร้อมส่งกำลังไปยังยุโรปตะวันออก อันเป็นแนวหน้าของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรนาโต้จากประเด็นยูเครน

จอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า แม้ขณะนี้กองทัพสหรัฐยังไม่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะส่งกองกำลังทั้ง 8 พันนาย ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกองกำลังนาโต้หรือไม่ โดยจะแจ้งการตัดสินใจในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ความคืบหน้านี้มีขึ้นวันเดียวกับที่นาโต้เผยว่า กำลังปรับทัพไปประจำการยังส่วนต่างๆ ของยุโรป ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียมีแผนจะรุกรานยูเครนภายในเร็วๆ นี้

ดร. จูเลียน เทอรอน นักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้ง และความมั่นคงศึกษา เผยบทวิเคราะห์ต่อเว็บไซต์ The Conversation ว่าในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว รัสเซียดูเหมือนมีแต้มต่อหลายด้านเหนือบรรดากองกำลังนาโต้ โดยหลังจากการเจรจาที่กรุงปารีสระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกล้มเหลว รัสเซียส่งสัญญาณชัดเจนถึงการระดมกองกำลังทหารไม่น้อยกว่า 120,000 นาย พร้อมเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมเปิดศึก ประชิดแนวชายแดนตะวันออกของยูเครน

Photo by SAUL LOEB / POOL / AFP

รัสเซีย ไม่เพียงเดินหน้าแผนกำลังทางทหารเท่านั้น ก่อนหน้านี้รัสเซียเดินกลยุทธ์อันแยบยลต่อการเจาะพื้นที่กรุงเคียฟของยูเครนไว้แล้ว ผ่านการโจมตีทางไซเบอร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในกรุงเคียฟเผยว่า พบการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตหลายพันครั้ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตไครเมียเมื่อปี 2014 โดยช่วงกลางเดือนมกราคม มีข้อความที่ถูกแชร์ต่อชาวยูเครนว่า “จงหวาดกลัวและเตรียมพบกับสิ่งเลวร้ายขั้นสุด” ซึ่งพบว่าถูกส่งมาจากโปแลนด์ แต่ต่อมากระทรวงข้อมูลยูเครนเผยว่าต้นทางมาจากรัสเซีย

ความมั่นคงทางพลังงานก็เป็นแต้มต่อสำคัญที่มอสโกมีเหนือยูเครนและชาติยุโรป โดยเฉพาะโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream ยุโรปอาจขาดแคลนพลังงานจากการที่รัสเซียขู่หยุดส่งพลังงานผ่านโครงข่ายท่อที่ผ่านยูเครน ทำให้ซัพพลายด้านพลังงานยุโรปลดน้อยลง ขณะรัฐบาลเคียฟก็สูญเสียแหล่งถ่านหินสำคัญของประเทศในเมือง Donbas ให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนแล้วเช่นกัน

แง่ของยุทธวิธี รัสเซียได้สร้างทรัพยากรทหารและแนวรบที่มากพอจะเจาะเข้าไปในดินแดนยูเครน แต่ไม่น่าเพียงพอสำหรับยึดครองทั้งประเทศ นักวิเคราะห์เชื่อว่ารัสเซียหวังผนวกบางส่วนของดินแดนฝั่งตะวันออกของยูเครน เนื่องจากผู้คนฝั่งตะวันออกมีความนิยมฝั่งรัสเซียมากกว่า ทั้งเป็นแหล่งเพราะปลูกสำคัญของยูเครนด้วย แต่นั่นเป็นผลลัพท์สุดท้ายหากสงครามปะทุ ความเสียหายระหว่างการสู้รบต่างหากคือสิ่งที่หลายฝ่ายวิตก

แนวรบทางตะวันออก รัสเซียสามารถเปิดฉากปฏิบัติการขนาดใหญ่อย่างง่ายดาย เนื่องจากติดพรมแดนรัสเซีย ทั้งเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซียอยู่แล้ว ปัญหาหลักคือเมืองคาร์คิฟ และดนิโปร ที่มีประชากรหนาแน่นและเสี่ยงต่อพลเรือนเสียชีวิต

Photo by Mikhail Tereshchenko / SPUTNIK / AFP

แนวรบทางใต้ซึ่งติดกับทะเลดำบนคาบสมุทรไครเมีย ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทั้งด้านการค้าและความมั่นคง รัสเซียสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวบุกโจมตีทางใต้ของยูเครน ทั้งตัดขาดยูเครนจากการเข้าถึงทะเลได้ในที่สุด ยูเครนมีแนวป้องกันชายฝั่งทางใต้ค่อนข้างเปราะบาง สองเมืองยุทธศาสตร์สำคัญที่รัสเซียจับต้องคือ มาริอูโปล และโอเดสซ่า ซึ่งเชื่อว่าส่วนนี้ ยูเครนน่าจะปกป้องพื้นที่อย่างสุดกำลัง

แนวรบทางเหนือ กรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครนอยู่ห่างจากชายแดนเบลารุสไม่ถึง 100 กม. ซึ่งรัสเซียมีกองทหารที่ร่วมรบกับเบลรุสในพื้นที่ อีกทั้ง อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำที่ครองอำนาจเบลารุสมานาน ยังได้รับการสนับสนุนจากมอสโก โดยท่าทีล่าสุดของลูกาเชนโกคือ “จะไม่อยู่ข้างฝ่ายใดหากสงครามปะทุ”

แนวรบด้านตะวันตก แม้ดูจะเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็อาจเผชิญการบุกรุกอย่างไม่คาดคิดเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพนตากอนได้แสดงความกังวลว่าภูมิภาคทรานส์นิสเทรีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ใช้ภาษารัสเซียในประเทสมอลโดวา อาจถูกใช้เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของรัสเซียอีกแห่งหนึ่ง