Airbnb เดินทางทั่วโลกฟื้น โอกาสสร้างรายได้ เจ้าของที่พัก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างหนัก แต่หลังจากที่สถานการณ์ทั่วโลกเริ่มคลี่คลายและการเดินทางเริ่มกลับมาคึกคัก ทำให้ภาคธุรกิจมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า “ไบรอันเชสกี” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ “แอร์บีเอ็นบี” (Airbnb) แพลตฟอร์มจองที่พักระดับโลก คาดการณ์ว่า ความต้องการที่พักทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ภายในไตรมาส 1/2022 นี้

โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลงอย่างรวดเร็วและผู้คนมีความรู้สึกสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น

คาดการณ์ดังกล่าวเปิดเผยระหว่างการรายงานผลประกอบการของแอร์บีเอ็นบีที่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรายรับของแอร์บีเอ็นบีในไตรมาส 4/2021 อยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 78% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่งผลให้ผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกจากการขาดทุน 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อนหน้า และแอร์บีเอ็นบีคาดว่าในไตรมาส 1/2022 นี้ จะมีรายรับอยู่ที่ราว 1,410-1,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวส่วนใหญ่ยังเป็นตัวเลขการเดินทางท่องเที่ยวในอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก ขณะที่ในฝั่งของเอเชียยังมีการเติบโตไม่มาก เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียยังมีมาตรการกักตัว

ขณะเดียวกันแอร์บีเอ็นบีพบว่าพฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยนไป คือการจองที่พักในลักษณะของเวิร์กเคชั่น คือจองห้องพักแบบระยะยาวมากขึ้นจนถึงเป็นเดือน และอัตราการพักเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 8 คืน

ไม่เพียงแอร์บีเอ็นบีเท่านั้นที่มีมุมมองในแง่บวก บลูมเบิร์กรายงานว่า “เอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป” เจ้าของแพลตฟอร์มจองโรงแรมและที่พักทางเลือกคู่แข่งแอร์บีเอ็นบีอย่าง “เวอร์โบ” (Vrbo) ก็เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของกิจกรรมการเดินทางในปีนี้เช่นกัน

เนื่องจากการระบาดของโอมิครอนไม่ส่งผลให้มีการยกเลิกการจองห้องพักมากเท่ากับช่วงการระบาดของเดลต้าก่อนหน้านี้ ซึ่งรายรับรวมของเอ็กซ์พีเดีย กรุ๊ป ในไตรมาส 4/2021 อยู่ที่ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) คาดว่าการเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในปี 2022 โดยสร้างเม็ดเงินในอุตสาหกรรมกว่า 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ราว 6.4%

แอร์บีเอ็นบีระบุด้วยว่า ความต้องการที่พักของนักเดินทางที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้มีที่พักไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีที่พักจำนวนมากที่ยกเลิกการให้บริการไป

แม้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ปัจจุบันมีที่พักลงทะเบียนกับแอร์บีเอ็นบีอยู่ราว 6 ล้านแห่งทั่วโลก เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.6 ล้านแห่งในปี 2021 ดังนั้น แอร์บีเอ็นบีจึงตั้งเป้าในการเพิ่มจำนวนที่พักทางเลือกในแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะที่พักส่วนบุคคลรายเล็ก

ซีอีโอแอร์บีเอ็นบีระบุว่า “ภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลกในปัจจุบันจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผู้คนเปิดพื้นที่เป็นที่พักสำหรับนักเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่กำลังเผชิญกับราคาสินค้าและบริการที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ผู้คนต้องการหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งพวกเขาต้องการโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้”