
บอกไม่บุกแต่รับรองกบฏยูเครน วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำทรงอิทธิพลแห่งรัสเซีย เปิดแถลงเย้ยฟ้าท้าดิน มีผลผ่าประเทศยูเครน เมื่อรับรอง 2 แคว้นของกองกำลังแบ่งแยกยูเครน ทั้งที่สหรัฐและยุโรปเตือนแล้วอย่าทำ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 บีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงผลการตัดสินใจครั้งใหญ่ในวิกฤตยูเครนต่อประชาชนชาวรัสเซีย ว่าจะลงนามรับรองการประกาศเอกราชของ 2 แคว้นฝั่งตะวันออกของยูเครน ได้แก่ ลูฮันสก์ และโดเนตสก์ แม้ถูกชาติตะวันตกขู่ด้วยมาตรการแซงก์ชั่น ด้วยเห็นว่าเป็นหนทางเปิดฉากบุกรุกประเทศยูเครน
สปีชยาวครึ่งชั่วโมงของปูติน ย้อนอดีตไปเมื่อครั้งอดีตผู้นำคอมมิวนิสต์ วลาดิมีร์ เลนิน สร้างยูเครนยุคใหม่ขึ้นมา แต่ทำให้รัสเซียต้องเสียประโยชน์ กระทั่งเมื่อโซเวียตล่มสลายในปี 2534 จึงเป็นช่วงที่รัสเซีย “ถูกปล้น” และเกิดหายนะทางการเมืองขึ้น

ปูตินกล่าวต่อว่า เมื่อปี 2557 เหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ประท้วงโค่นประธานาธิบดีของยูเครนผู้ที่รัสเซียสนับสนุน นั้นเท่ากับเป็นการรัฐประหาร จนถึงตอนนี้ยูเครนถูกควบคุมโดยคนนอกภูมิภาค ซึ่งสหรัฐอเมริกาและกองกำลังนาโต้เข้ามาทำให้ยูเครนเป็น “โรงละครแห่งสงคราม” โดยไม่สนใจข้อวิตกกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซีย
ผู้นำรัสเซียกล่าวยืนยันว่าจะลงนามรับรองเอกราชของแคว้นทั้งสองของยูเครน และขอให้สภาผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็ว ซึ่งตอนท้ายของคำแถลงนี้ ปูตินกล่าวว่า “ผมมั่นใจว่า ผมได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวรัสเซีย ขอขอบคุณ”

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำชาติยุโรปต่างเรียกร้องให้ปูตินอย่าได้ตัดสินใจเช่นนี้ ไม่เช่นนั้นจะต้องเจอกับมาตรการแซงก์ชั่น เพราะการประกาศรับรองกบฏเท่ากับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และละเมิดอธิปไตยของยูเครน
แต่ปูตินแจ้งกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสและนายโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี ก่อนจะแถลงออกสื่อทางการว่าตนเองจะลงนามในคำสั่งที่ตอบรับคำร้องขอจากกลุ่มผู้นำแบ่งแยกดินแดนยูเครนที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช

ขณะเดียวกัน ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. บรรดาผู้นำแบ่งแยกดินแดนยูเครน แถลงออกโทรทัศน์ เรียกร้องให้ปูตินรับรองและลงนามในสนธิสัญญาที่จะส่งกำลังทหารมาปกป้องพวกตนจากการโจมตีของรัฐบาลยูเครน ซึ่งเป็นคำร้องเดียวกับที่ส.ส.รัสเซียอ้อนวอนขอรัฐบาลรัสเซีย เมื่อสัปดาห์ก่อน
รัฐบาลยูเครนปฏิเสธว่า ไม่เคยโจมตีกบฏในช่วงเวลานี้ มีแต่การยั่วยุจากฝั่งรัสเซีย

ส่วนการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซียในเวลาต่อมา มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงถกเถียงว่าควรรับรองการประกาศอิสรภาพของกบฏยูเครนหรือไม่ โดยส่วนหนึ่งเสนอว่าไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจตอนนี้ เพราะจะถูกมองว่าเจตนาจะบุกรุกยูเครน แม้ว่าปูตินแถลงหลายครั้งว่าไม่มีแผนเช่นนั้น
ด้านนายมาครงและนายโชลซ์ต่างแสดงท่าทีผิดหวังอย่างยิ่งกับพัฒนาการนี้ของรัสเซีย พร้อมทั้งประณาม แต่ยังคงแสดงความพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจาหาข้อตกลงต่อไป
ส่วนสหรัฐอเมริกา ออกข่าวอย่างต่อเนื่องมาหลายวันแล้วว่า รัสเซียพร้อมจะบุกรุกยูเครนอยู่ทุกเมื่อ หลังจากเคลื่อนกำลังทหารเข้าประชิดล้อมทุกด้านแล้ว 150,000 นาย
