
หลายชาติทั่วโลกตื่นใช้มาตรการจำกัดส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ จ่อซ้ำเติมกระทบสงครามยูเครนที่ดันราคาอาหารโลกทะลุเพดาน
วันที่ 21 มีนาคม 2565 บลูมเบิร์ก รายงานว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครนกำลังทำให้เกิดภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต จากการที่ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้นที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อวิกฤตความมั่นคงทางอาหารในทั่วโลก ยูเครนได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป การรุกรานยูเครนจึงส่งผลกระทบทันทีต่อการกักตุนธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
ส่งผลให้บรรดาชาติกลุ่มจี 7 รวมถึงองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติกำลังเรียกร้องให้บรรดาชาติผู้ผลิตสินค้าการเกษตรทั้งหลายผ่อนคลายการกักตุนรวมถึงคลายการจำกัดการส่งออก เนื่องจากมองว่าหากชาติผู้ผลิตอาหารยิ่งกักตุนหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรจะยิ่งทำให้ราคาอาหารและความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกวิกฤตและมีราคาสูงขึ้น
โจเซฟ กลาเบอร์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า “ความมั่นคงใด ๆ ที่คุณได้รับในประเทศที่ห้ามส่งออก คือความไม่มั่นคงที่กระทบไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลกเช่นกัน ทุกอย่างมันมีผลกระทบเรียงซ้อน”
ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้หน่วยงานด้านอาหารของสหภาพยุโรป เตรียมหารือกันในวันจันทร์นี้ เพื่อหาวิธีสร้างซัพพลายเชนทางอาหารที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้ใช้ที่ดินรกร้างบางส่วนสำหรับปลูกพืชอาหารสัตว์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลายชาติที่เป็นผู้ผลิตอาหารต่างดิ้นรนด้วยวิธีการของตนเองในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ อาทิ บัลแกเรีย หนึ่งในผู้ส่งออกธัญพืชหลักของยุโรป รัฐบาลได้จัดสรรเงินทุนของรัฐบาลเพื่อเพิ่มปริมาณธัญพืชสำหรับบริโภคในประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักที่รัฐบาลจะซื้อธัญพืชจากเอกชนผู้ผลิตในประเทศราว 1.5 ล้านตัน
ในฝรั่งเศส สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องการให้รัฐบาลกักตุนธัญพืช 800,000 ตันทุกเดือน เนื่องจากเกรงว่าความต้องการอาหารทั่วโลกสำหรับธัญพืชอาจทำให้เสบียงภายในประเทศหมดลง ส่วนมอลโดวาและเซอร์เบีย ได้จำกัดการส่งออกธัญพืชสำคัญอย่างข้าวสาลีและน้ำตาล
Arif Husain หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ World Food Programme กล่าวว่า “มันเป็นเอฟเฟกต์เลียนแบบ ถ้าคุณทำ ฉันก็จะทำเช่นกัน”
อินโดนีเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุด กำลังขึ้นภาษีส่งออกเป็น 675 ดอลลาร์ต่อตัน จากราคาปัจจุบันที่ 375 ดอลลาร์ ภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้บริษัทต่างๆ ในการจัดหาตลาดภายในประเทศมีกำไรมากขึ้น Muhammad Lutfi รัฐมนตรีกระทรวงการค้ากล่าว โดยก่อนหน้านี้อินโดนีเซียในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ได้ใช้มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังต่างประเทศ เพื่อพยุงราคาน้ำมันปาล์มในประเทศ
เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา ผู้ส่งออกกากถั่วเหลืองรายใหญ่ กำลังปิดกั้นผู้ค้าจากการจดทะเบียนสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่มักจะบ่งชี้ว่าจะมีการขึ้นภาษี นอกจากนี้รัฐบาลอาร์เจนตินายังเตรียมให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าวสาลีและขู่ว่าจะควบคุมการส่งออกเนื้อวัว ซึ่งล้วนเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศทั้งสิ้น
บรรดาชาติอาหรับก็เช่นเดียวกัน อียิปต์ห้ามการส่งออกแป้ง ถั่วฝักยาว และข้าวสาลีเป็นเวลาสามเดือน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องการสำหรับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะโครงการแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ยากไร้หลายสิบล้านคนในประเทศ ไม่เพียงแค่สินค้าจำพวกธัญพืชเท่านั้น
ผักผลไม้บางชนิดยังคงถูกสั่งลดการส่งออกเช่นกัน โดยโมร็อกโกซึ่งเป็นผู้ส่งออกมะเขือเทศไปยังยุโรปมานาน ได้จำกัดการส่งออกแล้วเพื่อพยุงราคาในตลาดสำหรับรับเทศกาลเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมด้วย ประกอบกับความแห้งแล้งในประเทศที่ทำให้ผลผลิตน้อยยิ่งสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของยุโรปนอกเหนือจากวิกฤตยูเครน