ลาวเนื้อหอมยุคน้ำมันแพง เมื่อรถไฟทุกสายมุ่งสู่ “เวียงจันทน์”

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและภาคธุรกิจในอาเซียน ที่มองเห็นโอกาสในการเชื่อมต่อเส้นทางส่งออกสินค้าไปยังจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นเช่นนี้ การขนส่งสินค้าทางรางจึงกลายเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

นิกเคอิ เอเชีย สำรวจความคึกคักของ “รถไฟความเร็วสูง” ที่เชื่อมจากนครคุนหมิงของจีน มาสุดเส้นทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ของลาว หลังจากที่เปิดเดินรถครั้งแรกในช่วงปลายปี 2021 ก็ได้รับความสนใจภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก พร้อมกับเร่งผลักดันเวียงจันทน์ให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าจากอาเซียนไปยังจีน

ด้วยศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงที่สามารถขนส่งสินค้าจากเวียงจันทน์ไปยังคุนหมิงได้ด้วยเวลาเพียง 20-24 ชั่วโมง จากเดิมที่การขนส่งด้วยรถบรรทุกต้องใช้เวลานานถึง 2-3 วัน และยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ถึง 20-40% ทำให้เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีการขนส่งสินค้าจากลาวไปจีนมากถึง 120,000 ตัน ขณะที่จากจีนมายังลาวอยู่ที่ประมาณ 70,000 ตัน

ปัจจัยที่ทำให้การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟจีน-ลาวได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสรรคในการขนส่งทางถนน ที่ติดขัดด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจีน ส่งผลให้มีรถบรรทุกแออัดอยู่บริเวณชายแดนจีนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการลงในช่วงที่ผ่านมา แต่การขนส่งทางถนนก็ยังคงไม่ราบรื่น

ขณะที่ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ก็ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งกระตุ้นให้ขนส่งทางรางกลายเป็นทางเลือกของธุรกิจ อย่าง “ดีเอชแอล” ที่เป็นบริษัทโลจิสติกส์ระหว่างประเทศรายแรกที่เสนอบริการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

“บรูโน เซลโมนี” รองประธานของ ดีเอชแอล โกลบอล ฟอร์เวิร์ดดิงประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า “ขณะนี้มีรถบรรทุกกว่าพันคันที่รอข้ามพรมแดนจีน-เวียดนามทั้งสองทิศทาง จึงทำให้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวกลายเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับอาเซียน”

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังมุ่งส่งเสริมให้เวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างอาเซียนกับจีน เช่น การจับมือภาคเอกชน อย่างบริษัท ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว สร้าง “เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ก” เป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ไทย และเวียดนาม

ขณะที่การศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเวียงจันทน์กับท่าเรือหวุงอาง ตอนกลางของเวียดนาม ก็เสร็จสิ้นลงในกลางเดือน มี.ค. 2022 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้เป็นเส้นทางการค้าสายใหม่ลาว-เวียดนาม และเป็นทางออกสู่ทะเลที่มีศักยภาพของลาว

ส่วนฝั่งไทยก็มีความพยายามเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มการเดินรถไฟไทย-ลาวได้เป็น 24 ขบวน/วัน จากปัจจุบันเพียง 2 ขบวน/วัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2026 เพื่อเชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยมายังเวียงจันทน์และส่งต่อไปยังจีน

แม้ว่าการขนส่งสินค้าทางรางจะยังคงมีปัญหามากมายในปัจจุบัน เช่น ยังไม่รองรับการขนส่งสินค้าลอตเล็กและสินค้ายังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก แต่ความพยายามเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟเหล่านี้ก็ส่งผลให้รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมีโอกาสที่จะกลายเป็น “กระดูกสันหลัง” ของการขนส่งสินค้าระดับภูมิภาคที่น่าจับตา