ทูตพาณิชย์คุนหมิง คลายล็อกส่งออก “รถไฟจีน-ลาว”

ณัฐ วิมลจันทร์
ณัฐ วิมลจันทร์

เกือบ 3 เดือนหลังจากเปิดหวูดรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเป็นเส้นทางที่สร้างความเชื่อมโยงจีนและอาเซียนทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน พลอยสร้างความตื่นตัวให้กับภาคเอกชนไทยอย่างมากในการใช้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนที่มีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน และการนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีความหลากหลายเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ณัฐ วิมลจันทร์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองคุนหมิงสถานีปลายทางของเส้นทางประวัติศาสตร์นี้ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง 3 เดือน

โจทย์ใหญ่รถไฟจีน-ลาว

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ในช่วงแรกรัฐบาลจีนได้โปรโมตให้เอกชนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้ ปรากฏว่าทางฝั่งจีนก็มีการทดลองส่งสินค้าผักสด 33 ตู้มายังเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเป็นผักเมืองหนาว ประเทศไทยปลูกไม่ได้และต้องการนำเข้าที่ไม่สามารถส่งผ่านไปทางด่านโมฮานได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางมาใช้เส้นทางรถไฟแทน

“ภาคเอกชนในจีนค่อนข้างตื่นเต้นกับการใช้รถไฟจีน-ลาวเช่นเดียวกับไทย หากเปรียบเทียบกันแล้ว ตัวเลขในช่วง 3 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา เราจะพบว่าจีนส่งผักมาไทยประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยส่งผลไม้ไปยังจีนเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่างกันถึง 10 เท่า อาจเรียกได้ว่าเส้นทางรถไฟน่าจะเป็นเส้นทางที่ให้ประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก คนอาจจะไม่โฟกัสเรื่องนี้แต่ต้องยอมรับว่าการค้ามีสองทาง”

นโยบายท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ผลักดันการค้าระหว่างประเทศทุกวิธี จากการแพร่ระบาดของโควิดต้องปรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์คู่ขนานกันไป เพื่อช่วยรักษาความสัมพันธ์ของคู่ค้า โดยเฉพาะเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ถือว่าใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด มีการดำเนินธุรกิจระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน

ปีนี้ต้องการโฟกัสเรื่องด่านและการค้าชายแดน เพื่อช่วยเปิดทางให้การส่งออกผลไม้ไทยที่กำลังจะออกสู่ตลาด และระหว่างที่รอความพร้อมของด่านจีน

ผนึก “Tengjin” บิ๊กโลจิสติกส์

ล่าสุดทางสำนักงานได้จัดงาน Online business matching กับ Yunnan Tengjin Logistics Cooperated ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนที่ operation โลจิสติกส์ในการส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวรายใหญ่ และเป็นผู้ส่งออกผักลอตแรก โดยงานนี้มีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์และเอกชนไทย 16 บริษัท ร่วมเจรจาทำคำสั่งซื้อเบื้องต้นไปประมาณ 347 ล้านบาท กำลังจะเริ่มทดลองส่งสินค้าช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เช่น สินค้าลำไยอบแห้ง น้ำมะนาว และสินค้าทั่วไป

“งานนี้ทำให้เราทราบว่าจีนไม่เพียงต้องการสินค้า แต่จีนต้องการพาร์ตเนอร์ไทยเพื่อขยายกิจการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟด้วย จากนี้จะมีการขยายความร่วมมือกันต่อในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมพร้อมในหลายด้าน อาทิ 1) เรื่องกฎระเบียบระหว่างจีน ลาว แล้วก็ไทย 2) ต้นทุนที่ยังไม่ชัดเจน บริษัทยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้และยังไม่เกิดการคอนเนกต์ 3) facility ความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์จะพร้อมอำนวยความสะดวก

111

สถานะด่านการค้า

ปัจจุบันด่านในการส่งออกสินค้าผลไม้ในส่วนของยูนนาน ประกอบด้วย 1) ด่านโมฮาน เป็นด่านทางบก ซึ่งตอนนี้ต้องตรวจสอบตามมาตรการโควิดซีโร ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าที่ปกติอาจขนส่งได้ 500 คันต่อวัน ก็ลดลงเหลือ 300-400 คันต่อวัน แต่ทางเราก็พยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันการส่งออกให้ผ่านไปได้

2) ด่านรถไฟโมฮาน เริ่มขนส่งผ่านทางรถไฟได้บางอย่างรวมสินค้า 8 ประเภท ยังเข้าจีนผ่านด่านรถไฟโมฮานไม่ได้ เนื่องจากทางการจีนอยู่ระหว่างการก่อสร้างลานตรวจสอบจำเพาะสินค้ายังไม่เสร็จครับ ได้แก่ ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ อาหารทะเลสดแช่เย็น สัตว์น้ำมีชีวิต ต้นกล้า และสัตว์และพืชที่มีความเสี่ยงสูง เป็นต้น แต่สินค้าทั่วไป จีนไม่ได้ห้ามนำเข้า แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัทโลจิสติกส์และด้านกฎระเบียบ คาดว่าอย่างเร็วที่สุดกลางปีนี้

3) ด่านกวนเหล่ย ขณะนี้ปิดให้บริการมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด และมีการซ่อมโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนจิ่งหง จึงทำให้การขนส่งทางเรือไม่สามารถจะผ่านไปได้ แต่ด่านนี้เป็นด่านที่ส่งสินค้า เช่น พวกปีกไก่แช่แข็ง ไม่นิยมส่งผักผลไม้ 4) ด่านรุ่ยลี่ เป็นด่านที่ติดกับทางฝั่งเมียนมาซึ่งปิดบริการมาตั้งแต่ 30 มีนาคม 2564 จากการแพร่ระบาดของโควิด

นอกจากนี้ ยังมีด่านใหม่ 3 ด่าน คือ ด่านเหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว ด่านเทียนเป่า ซึ่งทั้ง 3 ด่านนี้ยังไม่พร้อมให้บริการเพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่พร้อม

“ในระหว่างนี้ทางทูตพาณิชย์ ทูตเกษตร กระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิด เราได้คำตอบว่าการก่อสร้างคาดว่าจะมีความพร้อมประมาณกลางปี 2565 ซึ่งเราก็กังวลว่าอาจจะไม่ทันกับผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ก็ต้องแจ้งเอกชนว่าด่านไหนพร้อมไม่พร้อมต้องเปลี่ยนเส้นทางส่งไปทางไหน ซึ่งเท่าที่ประเมินผลไม้ไทยหลัก ๆ จะส่งออกไปทางโหยวอี้กวนผ่านเวียดนาม แต่ตามหลักเกณฑ์ใหม่สินค้าที่จะส่งมาต้องผ่านมาตรการตรวจสอบที่เรียกว่า Zero COVID ซึ่งมาตรการนี้หลายคนอาจจะกังวลแต่ยืนยันได้ว่าเป็นมาตรการที่สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย จากสถานการณ์ด่านทางบกที่ได้กล่าวมา จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการผลไม้พิจารณาใช้เส้นทางการขนส่งทางเรือด้วย”

อัพเกรดความเข้มคุมโควิด

มาตรการ Zero COVID ล่าสุด หลังจากจีนบังคับใช้แล้ว ก็ได้เพิ่มความเข้มข้นมาตรการการตรวจสอบ โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกจะต้องส่งผลไม้ที่ผ่านจากด่านชายแดนเข้ามาแล้วให้ไปตรวจสอบที่คลังกลางก่อนกระจายสินค้า ถือเป็นการดับเบิลเช็กอีกทางหนึ่ง เมื่อผ่านแล้วจะได้รับคิวอาร์โค้ด เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

“ไม่ใช่ไทยเท่านั้นที่กังวลเรื่องการตรวจสอบ แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบทางผู้นำเข้าจีนสะท้อนว่าความต้องการบริโภคผักผลไม้จากไทยยังมีมากและยังเป็นที่นิยมเพียงแต่มีเรื่องโควิดและเรื่องของการปิด-เปิดด่าน”

แผนการระยะสั้น-กลาง

หลังจากนี้ เตรียมจัดทำรายงานเสนอรองนายกฯถึงแผนระยะสั้น-ระยะกลาง โดยแผนระยะสั้นทางสำนักงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในจีน เตรียมความพร้อมจัดทำทั้งบันทึกความเข้าใจ มินิเอฟทีเอ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการค้าเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่าไทยต้องการผลักดันและส่งเสริมการส่งออก

ส่วนระยะกลางจะเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ทำออนไลน์บิสซิเนสแมตชิ่ง และเข้าพบหน่วยงานราชการระดับเมือง เพื่อประสานและอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ

สำหรับแผนกิจกรรมที่จะจัดในปีนี้ประกอบด้วย 1.จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands in Kunming 2022 ณ นครคุนหมิง โดยจัดคู่ขนานภายในงานแสดงสินค้า China-South Asia Expo/งานคุนหมิงแฟร์ ในช่วงระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2565 2.จัดกิจกรรมยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดจีนปี 2565 โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทย/ผลไม้ไทย ณ ห้าง Parkson และซูเปอร์มาร์เก็ตเหอหม่าในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565

โอกาสการค้ากับจีนปีนี้

“ระบบโลจิสติกส์ในจีนถือว่ามีความสมบูรณ์มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีเส้นทางรถไฟระยะทางที่ยาวที่สุดในโลก มีการเชื่อมโยงเครือข่ายใยแมงมุมทั้งทางรถและราง สินค้าที่ส่งมาที่นี่ จะสามารถกระจายไปยังตลาดจินหม่า เจิ้นชาง ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุด”

และที่สำคัญภาพรวมเศรษฐกิจจีนทั้งประเทศเฉลี่ย 6-8% แม้ว่าจะมีโควิดและจีนเป็นตลาดการค้าออนไลน์อันดับหนึ่งของโลก ผู้บริโภคจีนเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยและนิยมสินค้าไทย