ทำไมการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเยอรมนี

ทำไมการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย จึงไม่ง่ายสำหรับเยอรมนี
REUTERS/Hannibal Hanschke

ท่อส่งน้ำมันที่ใช้ส่งน้ำมันจากรัสเซียไปยังเยอรมนีถูกเรียกว่า “เฟรนด์ชิป” (Friendship) หรือ “ดรูซบา” (Druzhba) ในภาษารัสเซีย แต่การโจมตียูเครนของ “วลาดิมีร์ ปูติน” ได้ทำลายความเป็นมิตรที่ยังหลงเหลืออยู่ระหว่างสองประเทศ 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 บีบีซีรายงานว่า ดรูซบาเปิดดำเนินการช่วงทศวรรษ 1960 โดยขนส่งน้ำมันเป็นระยะทางมากกว่า 5,000 กิโลเมตร จากสหภาพโซเวียตในสมัยนั้น ไปยังเมืองชเวดท์ในเยอรมนีตะวันออก

โรงกลั่นน้ำมันในเมืองชเวดท์เป็นกุญแจสำคัญตามแผนการของสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะยุติการนำเข้านำมันของรัสเซียภายในปี 2565 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี

นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน รัฐบาลเยอรมนีได้ลดการพึ่งพาน้ำมันของรัสเซียลงเป็นอย่างมาก จาก 35% เป็น 12% ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นน้ำมันที่มาจากโรงกลั่นในเมืองชเวดท์

แต่ผู้คนที่นี่กังวลว่าการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียอาจส่งผลต่อภูมิภาคแห่งนี้ ที่ซึ่งวิถีชีวิตของประชาชนหลายพันคนต้องพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย

“เรากังวลมากและตกใจมาก” แอนนิคาทริน โฮปเปอร์ นายกเทศมนตรีเมืองชเวดท์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานที่โรงกลั่นน้ำมัน กล่าว

เธอกังวลว่าการปิดโรงกลั่นน้ำมันอาจทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น แม้เธอจะกล่าวว่าเมืองแห่งนี้สนับสนุนยูเครน และเข้าใจถึงความเร่งด่วนในการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

ภายหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และการขาดการสนับสนุนอุตสาหกรรมท้องถิ่นจากเยอรมนีตะวันออกอย่างกระทันหัน เมืองแห่งนี้ก็ตกต่ำลง และในช่วงทศวรรษ 1990 เมืองชเวดท์ประสบปัญหาการว่างงานและจำนวนประชากรลดลง

ต้องขอบคุณโรงกลั่นน้ำมันดังกล่าวที่ทำให้เมืองชเวดท์กลับมายืนได้อีกครั้ง ทำให้วันนี้ชเวดท์กลายเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและเต็มไปด้วยอาคารที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ รวมถึงถนนราบเรียบไร้ที่ติ

น้ำมันรัสเซียเป็นมากกว่าสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ และโรงกลั่นน้ำมันในเมืองชเวดท์ได้กลายเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

ประชาชนมากกว่า 1,000 คนทำงานที่โรงกลั่นแห่งนี้ ขณะที่อีก 2,000 คนทำงานในบริษัทใกล้เคียงที่ต้องพึ่งพาโรงกลั่นน้ำมัน

โรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้สร้างความอบอุ่นให้กับบ้านเรือนส่วนใหญ่ในเมืองชเวดท์ และผลิตเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์มากกว่า 90% ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี รวมถึงกรุงเบอร์ลิน

นายกเทศมนตรีโฮปเปอร์กล่าวว่า การปิดโรงกลั่นน้ำมันในเมืองชเวดท์จะทำให้อุปทานเชื้อเพลิงในภูมิภาคแห่งนี้ และบางส่วนของโปแลนด์ ล่มสลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนขับรถ บริการฉุกเฉิน หรือแม้แต่สนามบินเบอร์ลิน

นี่คือเหตุผลที่ “โรเบิร์ต ฮาเบ็ค” รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี ใช้เวลาสองถึงสามเดือนในการท่องไปทั่วโลก ตั้งแต่นอร์เวย์ไปจนถึงกาตาร์ เพื่อค้นหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากพลังงานของรัสเซีย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากการไปเยือนโปแลนด์ เขาอธิบายในโซเชียลมีเดียว่าเยอรมนีสามารถลดการพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียได้เร็วกว่าที่คาด พร้อมระบุว่าเยอรมนีสามารถอยู่รอดได้หากมีการคว่ำบาตรพลังงานน้ำมัน

ฮาเบ็คยังกล่าวว่า ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น และจำเป็นต้องมีการเสียสละ แต่เขาเน้นย้ำว่าการคว่ำบาตรจะไม่นำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจ

การกล่าวของเขานั้นเป็นเหมือนการเปิดไฟเขียวให้กับชาติอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป เพราะเป็นการสื่อความหมายว่าตอนนี้เยอรมนีสนับสนุนการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียแล้ว

รัฐบาลเยอรมนีหวังที่จะหาแหล่งน้ำมันอื่น ๆ ให้โรงกลั่นน้ำมันในเมืองชเวดท์ แต่ติดอยู่ปัญหาหนึ่งคือ โรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้มี “รอสเนฟต์” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้จึงเป็นโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวที่ยังต้องพึ่งพาน้ำมันรัสเซีย

รัฐบาลเยอรมนีพยายามคิดแก้ปัญหาด้วยการจัดส่งน้ำมันผ่านท่าเรือของเยอรมนีและโปแลนด์ แต่วิธีนี้ก็เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่รอสเนฟต์ยังควบคุมโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้อยู่

ทางการเยอรมนีกำลังพิจารณาใช้กฎหมายใหม่ที่จะอนุญาตให้เยอรมนีสามารถเข้ายึดโรงงานด้านพลังงานต่าง ๆ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ

แนวทางของเยอรมนีในด้านพลังงานของรัสเซียนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายให้พันธมิตรในอียูบางรายเข้าใจ และไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวเยอรมนีบางคนที่ต้องการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียในชั่วข้ามคืน

แต่รัฐบาลเยอรมนีไม่เคยเปลี่ยนจุดยืนที่ว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีจะไม่อยู่รอด หากใช้วิธีคว่ำบาตรทันที

ในทางกลับกัน เยอรมนีกำลังพยายามกระจายความเสี่ยงโดยเร็วที่สุด และหยุดการนำเข้าจากรัสเซียทันทีที่สามารถจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะใช้ได้ผลกับถ่านหิน รวมถึงน้ำมันในตอนนี้

ความท้าทายต่อไปสำหรับเยอรมนีคือการหัดลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย