สงครามยูเครน-รัสเซีย ป่วนโลกร้อน-เส้นทางค้าน้ำมัน

ขนส่งน้ำมัน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากปลุกปล้ำมานานนับเดือนเพราะถูกสมาชิกบางประเทศคัดค้าน ในที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ก็สามารถบรรลุข้อตกลงที่จะระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อลงโทษกรณีรุกรานยูเครน และที่สำคัญเป็นการตัดรายได้สำคัญของรัสเซียที่นำไปใช้ทำสงคราม เพราะหากอียูยังคงพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซีย ก็เปรียบเหมือนส่งเงินไปเติมทุนในกระเป๋าให้รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างไม่สิ้นสุด

ข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียชุดที่ 6 ของอียู นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน แต่การคลอดมาตรการเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากชาติสมาชิกอย่างฮังการีคัดค้าน โดยอ้างว่าหากห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะทำให้เศรษฐกิจฮังการีเสียหายหนัก เพราะปัจจุบันพึ่งพาน้ำมันส่วนใหญ่จากรัสเซีย

ในที่สุดข้อตกลงจึงออกมาในลักษณะประนีประนอม โดยมีข้อยกเว้นให้ฮังการียังสามารถนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียผ่านทางท่อ “ดรูซบา” ได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะสามารถหาแหล่งอื่นทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม ผลการเห็นพ้องของสมาชิกส่วนใหญ่ก็ทำให้โดยรวมแล้วอียูสามารถแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียได้ถึง 90% ภายในสิ้นปีนี้

นับจากรัสเซียบุกยูเครน และบรรดาชาติยุโรปเริ่มลดการซื้อน้ำมันจากรัสเซียและอเมริกาแบนน้ำมันรัสเซียอย่างสิ้นเชิง ส่งผลต่อทิศทางการไหลเวียนของน้ำมันจากรัสเซียไปยังตลาดโลก โดยข้อมูลจากนักวิเคราะห์ เช่น แมตต์ สมิท จาก Kpler บริษัทชั้นนำด้านข้อมูลและการวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ ชี้ว่า

การตอบโต้จากยุโรปและอเมริกา ส่งผลลบต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 บ่งชี้ว่าน้ำมันดิบรัสเซียที่ต้องขนส่งทางเรือพุ่งขึ้นเกือบ 80 ล้านบาร์เรล ขณะที่ช่วงก่อนบุกยูเครน การขนส่งทางเรือมีไม่ถึง 30 ล้านบาร์เรล

“สาเหตุที่การขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้นก็เพราะรัสเซียต้องหาตลาดไกลขึ้น เช่น จีนและอินเดีย ต่างจากช่วงก่อนบุกยูเครน ที่รัสเซียขายให้กับประเทศยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือที่อยู่ใกล้ ๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะนี้น้ำมันของรัสเซียมุ่งหน้าไปที่อินเดียและจีนมากกว่าแต่ก่อน”

ด้าน วูล์ฟ รีเสิร์ช ระบุว่า นับจากบุกยูเครน แม้ปริมาณการผลิตน้ำมันของรัสเซียจะลดลง แต่ในแง่การส่งออกถือว่ารัสเซียปรับตัวได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยได้เปลี่ยนเส้นทางส่งออกไปหลายประเทศ รวมทั้งอินเดียแทน ซึ่งเห็นได้จากการจราจรของเรือขนส่งน้ำมันผ่านคลองสุเอซที่เพิ่มขึ้น 47% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

“การเปลี่ยนเส้นทางขนส่งจากทะเลดำไปเป็นคลองสุเอซ เพื่อขายให้กับตลาดที่อยู่ห่างไกลออกไปมาก จะทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น รูปแบบการค้าน้ำมันดังกล่าวบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะเกิดปัญหาใหญ่ด้านอุปทานน้ำมันในอนาคต”

ในอีกด้านหนึ่ง การที่รัสเซียรุกรานยูเครน มีผลให้แผนการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดของโลกต้องกลับหัวกลับหางและเข้าสู่จุดที่มาถึงทางแยก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อโลกท่ามกลางปัญหาโลกร้อนอันเนื่องจากการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน

โดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เตือนว่าการที่รัสเซียโจมตียูเครนจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเป้าหมายการลดโลกร้อน เพราะหลายประเทศหันไปใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อทดแทนพลังงานจากรัสเซีย

การที่ยุโรปต้องหยุดพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากรัสเซีย เป็นปัญหาท้าทายสำหรับผู้นำยุโรปที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมเพื่อลดโลกร้อนที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เพราะต้องมาขบคิดว่าในขณะที่ต้องเลิกพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มการต่อสู้เพื่อแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก

ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดเผยแผนที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และในระยะกลางคือปี 2030 จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 55% ว่า ในขณะที่อียูต้องถอยห่างจากการใช้พลังงานฟอสซิลของรัสเซีย อียูอาจจำเป็นต้องใช้ถ่านหินภายในประเทศต่อไปอีกเล็กน้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้


อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะยังสามารถลดคาร์บอนได้ตามเป้าหมายเดิม เนื่องจากจะชดเชยด้วยการเร่งปฏิบัติตามแผนที่เรียกว่า Fit for 55 ให้เร็วขึ้น อีกทั้งเพิ่มเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพด้านพลังงานให้สูงกว่าเดิม