5 สิ่งในโลกเปลี่ยนไป ใน 100 วัน สมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

รัสเซีย ยูเครน
Photo by DIBYANGSHU SARKAR / AFP

5 สิ่งที่เปลี่ยนไปในระหว่าง 100 วันที่ผ่านมาของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ถูกเรียกว่า เป็นการรุกรานครั้งใหญ่ในภาคพื้นยุโรป ในรอบ 80 ปี หรือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

วันที่ 4 มิถุนายน 2565 สื่อเยอรมนี Deutsche Welle หรือ DW เผยแพร่รายงานเรื่อง 5 หนทางสงครามรัสเซีย-ยูเครนเปลี่ยนโลก หลังจากครบรอบ 100  วันที่กองทัพรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นการรุนแรกดินแดนในโซนยุโรปครั้งแรกในรอบ 80 ปี และใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

โดยสงครามครั้งนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากทั้งในรัสเซีย ยูเครน และทั่วโลกอย่างที่ไม่อาจจินตนาการได้ โดย DW ประมวลไว้ 5 เรื่อง ดังนี้

1.การหลั่งไหลของผู้อพยพ

นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ส่งผลให้ชาวยูเครนประมาณ 6.8 ล้านคนหลบหนีออกนอกประเทศ และอีก 7.7 ล้านคนต้องพลัดถิ่นภายใน โดยส่วนหนึ่งหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และมีอย่างน้อย 3 ล้านคนยังคงมุ่งเดินทางต่อไปในประเทศอื่น

ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า นอกจากโปแลนด์แล้ว ยังมี เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวยูเครนจำนวนมากถึง 727,000 และ 348,000 ตามลำดับ

ขณะที่ ชาวยูเครนเกือบ 2 ล้านคนเดินทางกลับประเทศตั้งแต่วันที่หนีสงครามครั้งแรก แม้ว่าบางส่วนอาจเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามไป-มา ก็ตาม

การไหลบ่าเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวยูเครนในสหภาพยุโรป (อียู) มีทั้งที่ได้รับการสนับสนุน และเผชิญกับระบบการรับเข้าที่เข้มงวด ซึ่งผู้ลี้ภัยที่ได้ตั้งรกรากในประเทศใหม่มักจะต้องพึ่งพาเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมของประเทศนั้น อย่างน้อยก็ในบางครั้ง

ผู้อพยพชาวยูเครน ในเยอรมนี
หอการค้าอุตสาหกรรมและการค้า (IHK) เยอรมนีจัดกิจกรรมหางานสำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน ในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 (ภาพโดย John MACDOUGALL / AFP)

2.วิกฤตอาหาร

ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ หรือ USDA ระบุว่า ยูเครนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ประเทศแห่งนี้สามารถผลิตน้ำมันดอกทานตะวันได้ประมาณครึ่งหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดค้าข้าวโพดของโลก 15% ตลาดข้าวสาลีโลก 10%

แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ ส่งผลให้การค้าของพืชเกษตรเหล่านี้ต้องยุติลง การส่งออกหยุดชะงัก เนื่องจากรัสเซียยังคงปิดล้อมเส้นทางขนส่งธัญพืชบริษัทท่าเรือทะเลดำของยูเครน

ส่งผลกระทบต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าธัญพืชและน้ำมันปรุงอาหารของยูเครน เช่น อียิปต์และอินเดีย

แล้วผลกระทบนี้ก็เป็นวงกว้างกว่ามาก ถึงขั้นที่มีคำเตือนว่า ความขัดแย้งของ 2 ชาติครั้งนี้ รวมกับสภาพอากาศสุดขั้ว ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดจากโรคระบาดใหญ่ ทำให้เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลก

โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตือนว่าระดับความหิวโหยทั่วโลกได้แตะ “ระดับสูงสุดใหม่” แล้ว และพบว่าหลายสิบล้านคนอาจเผชิญกับความอดอยากในระยะยาวอันเนื่องมาจากสงคราม

เพราะเพียงเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียว พบว่า มี 23 ประเทศได้กำหนดข้อจำกัดการส่งออกอาหาร ซึ่งบ่งชี้ว่าความมั่นคงด้านอาหารลดลง

ข้าวสาลี
ทุ่งข้าวสาลีในเมืองหนึ่งในกรุงเคียฟ ยูเครน REUTERS/Valentyn Ogirenko/File Photo/File Photo

3.ความมั่นคงด้านพลังงาน

เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในทั่วโลก เป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก เป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสาม กระทั่งเกิดสงคราม ก๊าซ 3 ใน 4 และน้ำมันดิบเกือบครึ่งหนึ่งถูกส่งไปยุโรป

ขณะที่ เมื่อย้อนไปใน 2563 น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินของรัสเซียคิดเป็น 1 ใน 4 ของการใช้พลังงานของสหภาพยุโรป แต่หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน สหภาพยุโรปก็พยายามยุติการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย

ด้วยเหตุผลว่า “(เพราะ) เราไม่สามารถพึ่งพาผู้ผลิตที่คุกคามเราอย่างเด่นชัด” เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ คณะกรรมาธิการยังได้แสดความตั้งใจที่จะให้สหภาพยุโรปหยุดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียให้หมดสิ้นภายในปี 2573 เช่นเดียวกับแผนที่จะลดการใช้ก๊าซของรัสเซียลงมากสุดให้ได้ 2 ใน 3 ภายในสิ้นปีนี้

แล้วการเพิ่มการจัดเก็บก๊าซสูงสุด คือจุดหนึ่งในแผนนั้น โดยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว เช่น จากสหรัฐอเมริกา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหยุดชั่วคราว

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดการณ์ปัญหาการขาดแคลนก๊าซอาจมีการปันส่วน แต่อีกหลายคนมองว่าความขัดแย้งเป็นโอกาสสำหรับสหภาพยุโรปที่จะไม่เพียงปลดปล่อยตัวเองจากการพึ่งพาพลังงานของรัสเซียเท่านั้น แต่ยังเติมเต็มความมุ่งมั่นของกลุ่มในการปกป้องสภาพภูมิอากาศจากการสร้างพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งยังมีข้อจำกัดว่าสามารถทำได้เร็วเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ความต้องการแหล่งพลังงานอื่น ที่ไม่ใช่รัสเซียที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาพลังงานโลกพุ่งสูงขึ้นทั่วทั้งกระดาน

จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก หลังรัสเซียตัดการส่งออกน้ำมันและก๊าซ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

4.ราคาสินค้าและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

การขาดแคลนอาหารและพลังงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของหลาย ๆ คนนับตั้งแต่สงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้น ราคาสูงขึ้น เพราะของบางอย่างมีปริมาณลดลง มูลค่าของสิ่งนั้นก็จะเพิ่มขึ้น และเมื่ออาหารและเชื้อเพลิงมีราคาแพงขึ้น อย่างอื่นก็เช่นกัน

โดยเฉพาะราคาอาหารพุ่งทะยานขึ้น ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งวัดการเปลี่ยนแปลงราคาตะกร้าสินค้าอาหารทุกเดือน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ชี้วัดกำลังซื้อของผู้บริโภคก็พุ่งขึ้น ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่าในยูโรโซน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 8.1% ในพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบกับประเทศที่มีรายได้ต่ำมากยิ่งขึ้น ขณะที่แนวโน้มล่าสุดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 5.7% สำหรับประเทศอุตสาหกรรม ส่วนประเทศกำลังพัฒนาคือ 8.7%

และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากยังคาดการณ์ว่าราคาจะยังคงสูงอยู่หลายปีต่อไป

เงินเฟ้อ เทสโก้ ลอนดอน
ราคาสินค้าในซูปเปอร์มาร์เก็ตในลอนดอนเพิ่มขึ้น และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินเฟ้อในอังกฤษสูงสุดในรอบ 40 ปี มาอยู่ที่ 9%

5.ยุคเฟื่องฟูของนาโต้จะกลับมา

การรุกรานยูเครนของรัสเซียได้ทิ้งร่องรอยไว้ในภูมิรัฐศาสตร์เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าจะมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มการเมืองและเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก โดยมีรัสเซียและจีนเป็นฝ่ายหนึ่ง และสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เป็นผู้นำในอีกด้านหนึ่ง

องค์การสนธิสัญญาอเมริกาเหนือหรือที่เรียกว่า NATO ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี 2492 และนำสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ 10 ประเทศในยุโรปมารวมกัน สงครามเย็นได้กลายเป็นร่มเงาของประชาธิปไตยและตลาดเสรีในยุโรป โดยมีการขยายใหญ่ไปทางตะวันออกในปี 2547

กุญแจสู่ NATO คือมาตรา 5 ซึ่งระบุถึงหลักการของการป้องกันแบบรวมกลุ่ม หากสมาชิกคนใดถูกโจมตี จะถือว่าเป็นการโจมตีทุกคน โดยสมาชิกแต่ละคนจะตอบโต้ทางทหารเพื่อตอบโต้

ผู้สังเกตการณ์บางคนกล่าว บอกว่า แม้เกียรติประวัติของนาโต้จะลดน้อยลงจนถึงจุดที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสในปี 2562 เรียกมันว่าสมองตาย แต่สงครามในยูเครนกำลังทำให้พันธมิตรทางทหารที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกตอนนี้กลายเป็นจุดศูนย์กลาง

เนื่องจากความกลัวต่อการขยายจักรวรรดินิยมของปูติน ทำให้ฟินแลนด์ และสวีเดน ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตร โดยทำลายความเป็นกลางมาเกือบ 70 ปี

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มองว่า NATO เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และได้เตือนถึงผลที่ตามมาหลายครั้ง หากพันธมิตรอนุญาตให้ยูเครนเข้าร่วม นักวิจารณ์ของพันธมิตรกล่าวว่าการขยายตัวทางทิศตะวันออกนั้นก่อให้เกิดการยั่วยุ

ขณะที่ นาโต้ได้จัดหาอาวุธและอุปกรณ์ให้กับยูเครน แม้ว่าจะปฏิเสธคำขอของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนให้กำหนดเขตห้ามบินทั่วประเทศก็ตาม

ธงสวีเดน ฟินแลนด์ เข้าร่วมนาโต้
ธงชาติฟินแลนด์ นาโต้ และสวีเดน (ซ้ายไปขวา) ระหว่างพิธีทำเครื่องหมายการสมัครเป็นสมาชิกของสวีเดนและฟินแลนด์ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม 18 พฤษภาคม 2022 REUTERS/ Johanna Geron/Pool/File Photo