พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปลี่ยนโฉม “กลุ่มการค้า” โลก

ตู้คอนเทนเนอร์
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การระบาดของโควิด-19 คือหนึ่งในวิกฤตใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21 พลังทำลายล้างของมันรุนแรงถึงขนาดทำให้โลกาภิวัตน์คล้ายจะหยุดชะงักไปชั่วขณะเมื่อประเทศต่าง ๆ ต้องปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการระบาด โลกที่ทุกอย่างเคยไหลเวียนอย่างรวดเร็วและคล่องตัวเกิดการติดขัด ห่วงโซ่อุปทานเกิดการชะงักงันเนื่องจากจีนซึ่งเป็นจุดกำเนิดของโควิด-19 และเป็นโรงงานใหญ่ของโลกต้องปิดโรงงาน ทำให้หลายประเทศที่พึ่งพาชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากจีน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ไม่สามารถผลิตสินค้าได้

ผลจากโควิด-19 ในครั้งนั้นทำให้หลายประเทศเริ่มมองหาห่วงโซ่อุปทานที่สั้นลง แสวงหาซัพพลายที่อยู่ใกล้ ๆ แทนจีนที่อยู่ห่างไกล

มาบัดนี้เมื่อโลกต้องพบกับวิกฤตใหญ่ คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเข้าไปอีก โลกจึงกำลังถูกกระทำด้วยพลังขนาดใหญ่ 2 อย่างที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรทั้งด้านห่วงโซ่อุปทานและการค้า เพราะสงครามดังกล่าวทำให้ “สหภาพยุโรป” ต้องแซงก์ชั่นด้วยการแบนน้ำมันจากรัสเซีย ส่วนรัสเซียก็ใช้วิธีขู่จะหยุดส่งน้ำมันให้กับประเทศที่รัสเซียไม่พอใจ ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งทะยานผลักดันเงินเฟ้อทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ส่งผลต่อความเพียงพอของอาหารโลก เนื่องจากยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก แต่ถูกรัสเซียสกัดกั้นท่าเรือด้านทะเลดำไม่ให้ส่งออก โดยนัยนี้รัสเซียจึงถูกมองว่าเป็นคู่ค้าที่เชื่อถือไม่ได้

“ปีเตอร์ มาร์ติน” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทวู้ด แมคเคนซี ระบุว่า โควิด-19 ทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีห่วงโซ่อุปทานที่สั้นลง ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครนเน้นให้เห็นความจำเป็นต้องมีคู่ค้าที่เชื่อถือไว้วางใจได้ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่วิกฤตใหญ่ทั้งสองเรื่องจะทำให้การค้าโลกต้อง “จัดเรียง” ตัวเองใหม่ เศรษฐกิจโลกจะมีความเป็น “ภูมิภาค” มากขึ้น มีห่วงโซ่อุปทานสั้นลง และต้องมีคู่ค้าที่เชื่อถือได้

มาร์ตินชี้ว่า ภาวะเช่นนี้ไม่ใช่ “อวสานของโลกาภิวัตน์” เพียงแต่การค้าโลกอาจต้องจัดกลุ่มใหม่โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหรือมากกว่านั้นที่มีความ “แตกต่างกันอย่างชัดเจน” โดยกลุ่มแรกอาจประกอบด้วย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และพันธมิตร (อาจรวมสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น) ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ร่วมมือกันแซงก์ชั่นและโดดเดี่ยวรัสเซีย

ส่วนกลุ่มที่สอง อาจประกอบด้วย “จีนและอินเดีย” โดยกลุ่มนี้จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับทั้งรัสเซียและกลุ่มประเทศที่แซงก์ชั่นรัสเซีย เพราะอยากซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย แต่ขณะเดียวกันจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มของสหภาพยุโรป+สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร เนื่องจากกลุ่มนี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของจีนและอินเดียในสัดส่วน 42% และ 38% ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทะเล โดยนับจากเกิดสงครามบรรดาเรือขนส่งหลีกเลี่ยงทะเลดำ ทำให้เกิดการติดขัดในเส้นทางน้ำในส่วนอื่น ๆ ของยุโรป ซึ่งการเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งหรือเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางอื่นที่ไม่ใช่ทางเรือจะทำให้การส่งออกมีความซับซ้อนและต้นทุนแพงขึ้น

ผู้อำนวยการวิจัยของวู้ด แมคเคนซี ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงการค้าโลกอันเนื่องมาจากสงครามครั้งนี้ จะทำให้บางประเทศได้ประโยชน์ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกาและแอฟริกา ส่วนรัสเซียจะเป็นผู้สูญเสียมากที่สุดเนื่องจากถูกตัดขาดจากส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจโลก

คริสเตียน โรลอฟส์ ซีอีโอของคอนเทนเนอร์ เอ็กซ์เชนจ์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่คาดว่าจะได้เห็นในระยะข้างหน้าก็คือ ลดการพึ่งพาเส้นทางการค้าใหญ่ ๆ ระหว่างตะวันออกและตะวันตก ระหว่างจีนกับยุโรป รวมทั้งจีนกับสหรัฐ การเปลี่ยนเส้นทางการค้าอาจทำให้ประเทศอย่าง “เวียดนาม” ได้ประโยชน์ ส่วนสิงคโปร์อาจเสียประโยชน์เพราะเรือจะขนส่งสินค้าจากเวียดนามหรือกัมพูชาไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐโดยตรง โดยไม่ผ่านสิงคโปร์

เจสัน แมคแมนน์ หัวหน้านักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมอร์นิ่ง คอนซัลต์ กล่าวว่า หลายบริษัทเริ่มผลิตสินค้าใกล้บ้านเพื่อลดปัญหาการนำส่งล่าช้า ลดปัญหาแรงงานและอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีจัดให้มีสินค้าคงคลังมากกว่าเดิม เพื่อรองรับปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันในอนาคต