
ย้ำอีกครั้งบนเวทีประชุมกลุ่ม BRICS วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำทรงอิทธิพลของรัสเซียประกาศพร้อม ส่งออกข้าวสาลี 50 ล้านตันสู่ตลาดโลก พร้อมปุ๋ยและสินค้าสำคัญอื่น ๆ ซัดชาติตะวันตกตัวการก่อเงินเฟ้อและวิกฤตอาหารโลก
วันที่ 25 มิถุนายน 2565 สำนักข่าว อนาโดลู ของตุรกี รายงานผลการประชุมกลุ่มประเทศ BRICS Plus ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าวจากกรุงมอสโก เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. ว่ารัสเซียพร้อม ส่งออกข้าวสาลี 50 ล้านตันสู่ตลาดโลก
นายปูตินกล่าวว่า การส่งมอบได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่มีการรับประกันด้านเรือส่งสินค้า การขนส่งอาหาร การจ่ายเงินผ่านระบบธนาคาร และข้อจำกัดอื่นๆ ที่ใช้กับรัสเซีย

สำหรับกลุ่ม BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ ก่อตั้งเมื่อปี 2006 (พ.ศ.2549) เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จากนั้นขยายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่
โจมตีชาติตะวันตกไม่รับผิดชอบ
นายปูตินกล่าวย้ำถึงความสำคัญในความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนในโลกที่มีมากกว่าสองขั้วและเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ท่ามกลางช่วงเวลาที่ไม่มั่นคง เพราะมีบางประเทศพยายามจะใช้กฎหมู่เพื่อรักษาความเป็นใหญ่ของตนเองเข้าแทนที่กฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะนี้ความพยายามของบางประเทศที่ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจโดยผิดกฎหมาย และสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาอาหารพุ่งทะยาน และราคาพลังงานสร้างผลกระทบเสียหายต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง

ต่อมาผู้นำรัสเซียพูดโจมตีเจาะจงไปยังกลุ่มประเทศจี-7 ของชาติตะวันตก ว่าดำเนินนโยบายไร้ความรับผิดชอบจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออยู่ในปัจจุบัน
“ผมอยากจะย้ำอีกครั้งว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างยิ่งในขณะนี้ไม้ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน หากเป็นผลมาหลายปีแล้ว เป็นหลาายปีของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มจี-7 ที่ไร้ความรับผิดชอบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ควบคุม และการสะสมหนี้ที่ไม่ดี กระบวนการเหล่านี้เมื่อได้รับแรงกระตุ้นจากสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้อุปทานและอุปสงค์ด้านสินค้าและบริการดิ่งลงอย่างรวดเร็วในวงกว้างทั่วโลก” นายปูตินกล่าว
ยันไม่เคยขวางเส้นทางน้ำยูเครน
ตอนท้าย นายปูตินกล่าวโจมตีชาติตะวันตกว่าเป็นฝ่ายใช้มาตรการที่สั่นคลอนตลาดสินค้าอาหารของโลก และก่อเรื่องวุ่นวายเกี่ยวกับการขนส่งข้าวสาลีของยูเครน ไม่ยอมละทิ้งภัยคุกคามต่อวิกฤตอาหารโลก
“รัสเซียไม่ได้ขัดขวางการส่งออกข้าวสาลีของยูเครนจากพรมแดนของประเทศนี้ และพร้อมที่จะรับประกันว่าเรือขนส่งข้าวจะเดินเรือได้อย่างเสรีในน่านน้ำสากล” ประธานาธิบดีปูตินกล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับรัสเซียเองเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบและมีบทบาทสำคัญในตลาดอาหารโลก และพร้อมที่จะสานต่อหน้าที่ส่งออกผลผลิตทางการเกษตร ปุ๋ย พาหนะขนส่งพลังงาน และผลผลิตที่สำคัญอย่างยิ่ง

BRICS สำคัญสูงสุด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันเปิดการประชุม วันที่ 22 มิ.ย. นายปูตินกล่าวว่ารัสเซียจะทำการค้าให้มากขึ้นกับพันธมิตรนานาชาติที่เชื่อถือได้ในกลุ่ม BRICS ซึ่งนอกจากสมาชิกก่อตั้งทั้ง 5 ประเทศแล้ว ยังมีแอลจีเรีย อาร์เจนตินา อียิปต์ อิหร่าน คาซัคสถาน กัมพูชา มาเลเซีย เซเนกัล ไทย อุซเบกิสถาน ฟิจิ และเอธิโอเปีย เข้าร่วม
ปูตินกล่าวในคลิปวิดีโอเปิดการประชุมสุดยอด BRICS ว่ารัสเซียจะเปิดเส้นทางการค้าและเศรษฐกิจต่างประเทศกับประเทศพันธมิตรที่น่าเชื่อถือโดยให้ความสำคัญกับกลุ่ม BRICS เป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ การค้าระหว่างรัสเซียกับ BRICS เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 และแตะ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,530,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีนี้

เพิ่มส่งออกอินเดีย-จีน
ขณะที่การติดต่อในแวดวงธุรกิจระหว่างรัสเซียและ BRICS เพิ่มมากขึ้น เช่น กำลังเจรจาเปิดร้านสาขาของอินเดียในรัสเซียและเพิ่มส่วนแบ่งรถยนต์สัญชาติจีน รวมทั้ง อุปกรณ์และฮาร์ดแวร์ในตลาดรัสเซีย
รัสเซียยังเพิ่มการส่งออกน้ำมันไปยังจีนและอินเดียโดยลดราคาน้ำมันให้ ส่วนจีนเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียจนทำสถิติสูงสุดเมื่อเดือน พ.ค. เบียดซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของจีน
ปูตินกล่าวด้วยว่าระบบการสื่อสารระหว่างสถาบันการเงินต่างๆ ของรัสเซียเปิดให้เชื่อมกับธนาคารต่างๆ ใน 5 ประเทศได้และรัสเซียกำลังหาทางทำธุรกรรมโดยไม่ตั้งพึ่งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หรือ ยูโร ดังนั้น ความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS จึงเป็นการพัฒนากลไกทางเลือกระหว่างประเทศ
ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวหาว่าชาติตะวันตกมองข้ามหลักพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เช่น การค้าเสรี ทำให้ทำลายผลประโยชน์ทางธุรกิจระดับโลกและส่งผลลบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกประเทศ

เวทีอินเตอร์แรกของปูติน
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การประชุมสุดยอด BRICS จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งโดยมีจีนเป็นเจ้าภาพการประชุมแบบเสมือนจริงและเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกที่ผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาร่วมหารือกัน หลังจากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งผู้เข้าร่วมเวทีต่างลงความเห็นตรงกันว่า ควรต้องมุ่งการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน
การคว่ำบาตรจากตะวันตกทำให้รัสเซียถูกตัดออกจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกและส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียถดถอย แต่รัสเซียกลับทำเงินได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศประเมินว่ารัสเซียกอบโกยรายได้จากการส่งออกน้ำมันถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 680,000 ล้านบาทในเดือน พ.ค.
……….