หวั่นบาทอ่อน 36 บาททุบนำเข้า เอกชนชะลอลงทุนเครื่องจักร-วัตถุดิบ

ส่งออก

สรท.กัดฟันยืนเป้าส่งออกปี’65 โต 5-8% จี้รัฐเร่งดูแลค่าบาทในกรอบ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไม่ควรแตะถึง 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ด้าน ส.อ.ท.ชี้ดาบสองคม “ค่าเงินบาทอ่อน” กระทบแผนลงทุน นำเข้าวัตถุดิบ-เครื่องจักรเดี้ยง แต่หนุนส่งออกเกษตร-อาหาร เตรียมดัน FTI Expo 2022 ปลุกเศรษฐกิจ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไปกว่า 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มีทั้งผลดีและผลเสียต่อการส่งออก-นำเข้าสินค้าไทย จะมีผลต่อการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตขายภายในประเทศ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ เหล็ก ปิโตรเคมีอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนผู้นำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออกจะยังสามารถเจรจากับผู้นำเข้าได้ แต่อีกด้านจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจะไปได้ดี

“สรท.คาดการณ์การส่งออกปีนี้ ขยายตัว 5-8% สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ภายใต้ข้อสมมุติฐาน ค่าเงินบาท ต้องอยู่ที่ระดับ 33.5-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ค่าเงินบาทที่เหมาะสมทั้งนำเข้า-ส่งออกควรอยู่ที่กรอบ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ไม่ควรให้อ่อนค่าไปจนถึงระดับ 36 บาท ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 100-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สถานการณ์ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ เพียงพอกับความต้องการส่งออก และค่าระวางเรือ ไม่สูงไปมากกว่าปีที่แล้ว”

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตลูกใหม่ที่ไทยต้องเผชิญนอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว นั่นคือเรื่องของค่าเงินบาทที่ขณะนี้เรียกได้ว่าผันผวนอย่างมาก ณ ปัจจุบันพุ่งไปอยู่ที่ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ และแน่นอนว่าแนวโน้มจะพุ่งไปเกินกว่านี้ ซึ่งเป็นค่าเงินบาทที่เรียกว่าบาทอ่อนอย่างมาก ผลที่จะตามมาคือนักลงทุนจะหยุดการใช้เงิน หยุดการสั่งซื้อ หยุดการนำเข้า หรือชะลอลงทุนไปก่อน เพราะจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม บาทอ่อนจะส่งผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่ขณะนี้ทั่วโลกต้องการมาก และผลดีต่อท่องเที่ยวของไทย แต่หากอ่อนเร็วและแรงเกินไป ก็มีผลต่อการตั้งราคาหรือบริหารต้นทุนยากขึ้น ต้นทุนการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบแพงขึ้นจนเงินเฟ้อเพิ่มไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยเปิดประเทศอีกครั้งตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลายและจากเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ทาง ส.อ.ท.จึงเตรียมจัดงาน FTI Expo 2022-Shaping the Future Industry ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงศักยภาพและยกระดับความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในระดับประเทศภายใต้แนวคิด BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY (BCG Economy)

Advertisment

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม องค์กรชั้นนำ ภาครัฐ ภาคเอกชน นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคปกติใหม่ (new normal) มาจัดแสดงพร้อมเสนอทิศทาง มุมมอง กลยุทธ์ใหม่ ๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป บนพื้นที่กว่า 30,000 ตร.ม. ครอบคลุม 11 คลัสเตอร์ธุรกิจ และจะมีการประชุมสัมมนา (symposium) รวมถึงการเจรจาธุรกิจ (business matching) ด้วย