กสิกรไทย คาด ธปท. ใช้ 1 แสนล้าน ดูแลค่าบาทช่วงผันผวน

ธปท.

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินแบงก์ชาติใช้ทุนสำรองราวสัปดาห์ละ 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ เข้าดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน รวมใช้ดูแลไปแล้วราว 1 แสนล้านดอลลาร์ หนุนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คาดปีนี้ ธปท. ปรับ 2 ครั้ง ฟาก “ttb analytics” สนับสนุนนโบบาย “บาทอ่อน” ช่วยฟื้นท่องเที่ยว-ส่งออก

วันที่ 25 มิถุนายน 2565 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากหากปล่อยไว้ จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และ ยิ่งเร่งเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ธปท. ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 106,000-177,500 ล้านบาท) เพื่อช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่า หรือ ผันผวนเกินไป โดยรวม ๆ มีการใช้เงินเข้าไปดูแลแล้วราว 1 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงที่บาทผันผวน เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผลอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 5% และ เงินบาทที่อ่อนค่าประมาณ 80-90% มีสาเหตุมาจากนโยบายการเงินของเฟด

“ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนเป็นอันดับที่ 4 โดยค่าเงินที่มีความผันผวนสุด คือ เงินวอน-เกาหลี รองลงมา รูเปียห์-อินโดนีเซีย ตามด้วยเปโซ-ฟิลิปปินส์ ซึ่งเราไม่อยากให้ค่าเงินผันผวนมาก หรือน้อยเกินไป” นายกอบสิทธิ์กล่าว

นายกอบสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หาก ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นผลบวกมากกว่าผลลบ โดยคาดว่า ธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม 1 ครั้ง และ รอดูผลลัพธ์ จากนั้นคาดว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้งภายในเดือนพฤศจิกายน

ขณะที่นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ช่วงนี้ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทยต่อเนื่อง โดยช่วง 5 วันทำการล่าสุด (17-23 มิ.ย.) พบว่าเงินต่างชาติไหลออกสุทธิ 19,599 ล้านบาท แบ่งเป็นออกจากหุ้น 11,477 ล้านบาท และออกจากบอนด์ 8,122 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่ต้นเดือนมา (MTD) เงินไหลออกสุทธิ 46,059 ล้านบาท แบ่งเป็นออกจากหุ้น 31,484 ล้านบาท และออกจากบอนด์ 14,575 ล้านบาท ทำให้เห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าไปใกล้แตะ 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมองไปข้างหน้าก็ยังมีโอกาสที่เงินบาทอาจจะอ่อนค่ามากกว่านี้ได้อีก

“ผมไม่ค่อยห่วงเงินร้อนไหลออก แต่การที่เงินบาทอ่อนก็จะช่วยเรื่องส่งออกกับท่องเที่ยวได้ แน่นอนว่าภาระค่านำเข้าจะแพงขึ้น แต่ตอนนี้ถ้าให้ท่องเที่ยวฟื้นได้ ส่งออกยังไปได้ ส่วนค่าน้ำมันที่แพงขึ้นก็หาวิธีจัดการกันไป ยังดีกว่าอยู่ดี ๆจะให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมา ดังนั้น สิ่งที่ต้องกังวลไม่ใช่เงินร้อนไหลออก แต่ควรกังวลเรื่องเงินลงทุนโดยตรง (FDI) มากกว่า เพราะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ระยะยาว” นายนริศกล่าว