ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง

ดอลาร์แข็งค่า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/4) ที่ระดับ 37.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 36.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์ได้รับแรงหนุน หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือน ก.พ. และสูงกว่าที่นักเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE)

ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน มี.ค.เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.8% เช่นกันในเดือน ก.พ. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% โดยล่าสุดเครื่องมือ FedWatch ของ CME บ่งชี้ว่า หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อ สัญญาณดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่า มีโอกาส 58% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. โดยลดลงจาก 68% ในสัปดาห์ก่อน ขณะที่มีโอกาสมากกว่า 80% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.

ทั้งนี้ บรรดานักลงทุนในตลาดการเงินมุ่งความสนใจไปที่การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในวันที่ 30 เม.ย. และจะแถลงมติการประชุมในวันพุธที่ 1 พ.ค. ตามเวลาสหรัฐ ซึ่’ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สูงเกินคาดและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 1/2567 ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าสหรัฐกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น (Stagflation) โดยเป็นสถานการณ์ที่กลไกทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ทำงานตามหลัก เกิดภาวะที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจยังซบเซา

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า นอกจากนี้ในระหว่างวันสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน มี.ค. 2567 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 66 จากตลาดคาดหดตัว 4.0-5.9%

โดยเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แต่หากไม่รวมสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ การส่งออกขยายตัว 5.6% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 26,123 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.6% เ มื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 66 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,163 ล้านดอลลาร์ โดยในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.98-37.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/4) ที่ระดับ 1.0712/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 1.0731/34 ค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง หนุนให้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานกว่าคาด ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0688-1.0734 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0700/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/4) ที่ระดับ 158.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 156.64/67 ค่าเงินเยนปรับตัวผันผวนในทิศทางอ่อนค่าต่อนเนื่อง หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 0-0.1% ตามเดิมในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 25-26 เม.ย. และบีโอเจยังระบุอีกด้วยว่า บีโอเจจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ต่อไปตามแนวทางที่ระบุไว้ในเดือน มี.ค.

Advertisment

นอกจากนี้ในวันศุกร์ (26/4) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นยังได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราอีกด้วย โดยในระหว่างวันดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 34 ปีที่ระดับ 160.00 แม้ว่าตลาดญี่ปุ่นจะปิดทำการในวันนี้ (29/4) ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 154.50-160.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 155.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตสหรัฐเดือน เม.ย.จากเฟดดัลลัส (29/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.จาก Conferece Board (30/4), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน เม.ย.จาก ADP (1/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้าย (1/5), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน มี.ค. (1/5), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (1/5), ธนาคารกลางสหรัฐประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (1/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/5), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน มี.ค. (2/5), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค. (2/5), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย. (3/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย. (3/5) และดัชนีภาคบริการเดือน เม.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (3/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.7/-9.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.3/-6.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ