2 แบงก์รัฐโชว์ “ล้านคน” พ้นจน “บิ๊กตู่” อัดงบฯกลางเติมบัตร 4 หมื่นล.

อภิรมย์ สุขประเสริฐ

2 แบงก์รัฐโชว์ยกระดับผู้มีบัตรสวัสดิการพ้นจนกว่า 1 ล้านราย ธ.ก.ส.พัฒนาอาชีพผ่าน 3 มาตรการหลัก ขณะที่ดัชนีคุณภาพชีวิตของประชาชนฐานรากทั่วประเทศของธนาคารออมสินชี้ผู้มีบัตรสวัสดิการ “คุณภาพชีวิต” ดีขึ้น ล่าสุด ครม.ไฟเขียวงบฯกลางเติมบัตรคนจนอีก 3.79 หมื่นล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากที่ผู้มีรายได้น้อยมีการลงทะเบียนผ่านทาง ธ.ก.ส.ทั้งสิ้น 7,718,000 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาอาชีพ (personalize plan) ทั้งสิ้น 2,765,335 ราย โดยได้สนับสนุนการพัฒนาผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการให้ความรู้ทางด้านการเงิน/การผลิต/การตลาด วงเงินรวม 2.76 ล้านบาท

ต่อมามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร แบ่งเป็น หนี้ในระบบ 661,022 ราย เป็นวงเงิน 129,324 ล้านบาท และหนี้นอกระบบ 217,852 ราย เป็นวงเงิน 13,563.11 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาอาชีพ 2,156,703 ราย

“ผลที่ได้ก็คือ เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี) มีรายได้พ้นเส้นความยากจนประมาณ 880,000 ราย คิดเป็นประมาณ 51% จากที่ลงทะเบียนไว้” นายอภิรมย์กล่าว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้ทำโครงการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีบัตร ปีละกว่า 3 แสนราย และจะถึง 1 ล้านรายภายในปี 2563

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้มีบัตรสวัสดิการทั่วประเทศ 11.47 ล้านราย โดยทำแบบประเมินกับธนาคารออมสิน 4.33 ล้านราย พบว่า ผู้มีบัตรที่ต้องการพัฒนากับธนาคารออมสิน มีจำนวน 1.47 ล้านราย

“ปัจจุบันผู้มีบัตรได้รับการพัฒนาแล้ว มีจำนวน 502,586 ล้านราย จากผลตรงนี้ ผลสำเร็จของโครงการก็คือ ผู้ที่ผ่านการพัฒนามีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 54.05% หรือ 271,638 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มหลุดพ้นความยากจน หรือมีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 196,001 ราย คิดเป็น 39% และผู้ที่หลุดพ้นจากการเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือมีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี 47,459 ราย คิดเป็น 9.44%” นายชาติชายกล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวด้วยว่า ธนาคารออมสินได้จัดทำดัชนีคุณภาพชีวิตของประชาชนฐานรากทั่วประเทศ (กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 ต่อเดือน) ในช่วงปี 2559-2561 พบว่า ดัชนีเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 0.6285 ในปี 2559 เป็น 0.7049 ในปี 2560 และเพิ่มเป็น 0.7180 ในปี 2561 (ถ้าดัชนีต่ำกว่า 0.33 หมายถึง คุณภาพชีวิตต่ำ, ดัชนีอยู่ระหว่าง 0.33-0.67 หมายถึง คุณภาพชีวิตปานกลาง และดัชนีสูงกว่า 0.67 ถือว่าคุณภาพชีวิตสูง ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล UNDP) ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดัชนีจะอยู่ที่ 0.6385 หรือเกือบถึงขั้นคุณภาพชีวิตสูง


ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 มี.ค. ได้อนุมัติงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 37,900 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งจะใช้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถึงเดือน ก.ย. 2562 และมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 ถึงเดือน มิ.ย. 2562