
ปัญหาสภาวะแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาวะอากาศ (Climate Change) จัดได้ว่าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโลกในอนาคต (The Global Risk Report 2022) และการสำรวจล่าสุดของ World Economic Forum พบว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงที่มีความสำคัญมากที่สุด 3 อันดับแรก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมทั้งสิ้น ความเสี่ยงทางด้านสภาวะอากาศย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การแก้ปัญหาดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเกิดจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการใช้กลไกของตลาดเงินและตลาดทุน แม้ว่าภาคการเงินของไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ในปัจจุบันยังคงมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อม เช่น กองทุนสีเขียว (Green Investment Funds) ค่อนข้างจำกัด
ทีมคณะนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์ ผศ.ดร.กฤษฎา นิมมานันทน์ ดร.บุษยาศจี พ่วงเงิน และ ผศ.ดร.ดลชัย ละออนวล ได้เล็งเห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับ ทัศนคติของนักลงทุน ผลตอบแทนชดเชยคาร์บอน และ การออกแบบพอร์ตลงทุนเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย (Investors’ Attitude, Carbon Premium, and Portfolio Design for Sustainability in Thailand) จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ช่วยให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนที่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยอุตสาหกรรมการจัดการทรัพย์สิน เช่น กองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ผู้ให้คำปรึกษาทางด้านความมั่งคั่ง (Wealth Manager) ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ความเข้าใจทัศนคติและความต้องการของนักลงทุน ยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการมีผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่ครอบคลุมช่วยทำให้ตลาดทุนไทยมีความหลากหลาย (Market Breadth) เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการวิจัยนี้ขึ้นมาในประเทศไทย โดยโครงการนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund)
โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศน์ทางด้านการเงิน ในการรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยนำเสนอแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้นักลงทุนมีทางเลือกของผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของบริษัทจดทะเบียน ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและข้อตกลงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของไทยในปี ค.ศ. 2065 โดยโครงการประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การสำรวจและทดลองเชิงสมมติกับนักลงทุนไทย เพื่อให้ทราบถึงทัศนคติและการรับรู้ของนักลงทุนไทยต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ รวมทั้งความต้องการลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) 2) การศึกษาผลกระทบของการปล่อยคาร์บอนต่อตลาดทุนไทย เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่กำหนดการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคาร์บอนและผลตอบแทนของหุ้นสามัญในประเทศไทย (Carbon Premium) 3) การศึกษาการจัดกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดคาร์บอน (Decarbonizing Portfolio) เพื่อให้ทราบถึงวิธีกำหนดปริมาณการปล่อยคาร์บอนประกอบการจัดพอร์ตลงทุนในประเทศไทย เพื่อออกแบบการลงทุนสีเขียวและเสนอทางเลือกให้กับนักลงทุนได้
การดำเนินงานส่วนแรกเป็นการสำรวจทัศนคติและการรับรู้ของนักลงทุนไทยจำนวน 957 ตัวอย่าง พบว่านักลงทุนมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่ส่งผลต่อมูลค่าของกิจการโดยตรงมากกว่าความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม แม้จะให้ความสำคัญแตกต่างกันไม่มากนักก็ตาม ในส่วนของทัศนคติการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน พบว่า กว่าร้อยละ 95 ของกลุ่มตัวอย่าง คิดว่าการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ในส่วนของผลตอบแทนที่ลดลงที่นักลงทุนยอม “จ่าย” เพื่อเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน พบว่านักลงทุนยอมจ่ายโดยเฉลี่ยประมาณครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนปกติ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมองว่ากลไกหรือมาตรการจากภาครัฐจะช่วยผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนได้ดีที่สุด คือ การจัดเก็บภาษีคาร์บอน นอกจากนี้นักลงทุนยังเห็นว่า ความสมัครใจ และ แรงผลักดันจากทางนักลงทุนรายย่อย ลูกค้า หรือแม้กระทั่งจากทางสถาบันการเงินเป็นแรงผลักดันในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำนวนมากคิดว่าไม่มีกลไกหรือมาตรการใดที่จะช่วยได้ ซึ่งอาจสะท้อนว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความมั่นใจในกลไกหรือมาตรการภาครัฐที่มีอยู่ ผลการทดลองเชิงสมมติช่วยยืนยันผลการสำรวจทัศนคติว่านักลงทุนตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าเมื่อให้ข้อมูลคุณลักษณะของหลักทรัพย์เกี่ยวกับการลดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Friendliness) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Immunity) และอัตราผลตอบแทน นักลงทุนตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาข้อมูลทั้งสามด้าน โดยอัตราผลตอบแทนเป็นปัจจัยที่มีผลตรงและใหญ่ที่สุดต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ตามด้วยการลดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ
การดำเนินงานในส่วนที่สองเป็นการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนจากฐานข้อมูล Trucost และ Datastream ในช่วงปี ค.ศ 2004 – 2021 โดยการศึกษานี้นำข้อมูลการปล่อยคาร์บอน อัตราการเปลี่ยนแปลง และ ความเข้มข้นมาใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนดังกล่าวเป็นไปตามหลักการของ Greenhouse Gas (GHG) Protocol ที่แบ่งการปล่อยคาร์บอนออกเป็น 3 ขอบเขต (Scope) ผลการวิเคราะห์พบ Carbon Premium ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่านักลงทุนไทยมีความกังวลและกลัวความเสี่ยงที่อาจเกิดกับกิจการที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยนักลงทุนเริ่มตระหนักเรื่องความเสี่ยงทางคาร์บอนนี้หลังจากปี 2015 ซึ่งในปีนั้นรัฐบาลของหลายประเทศได้ร่วมกันลงนามใน Paris Agreement เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามไม่พบ Carbon Premium กับกิจการที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณมากตามปกติวิสัย ทั้งที่การปล่อยคาร์บอนในปริมาณมากเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งอาจเป็นเพราะแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในการลดการปล่อยคาร์บอนลงจากฐาน (Baseline) การดำเนินธุรกิจตามปกติวิสัย (Business-as-usual) นั่นหมายความว่า กิจการใดที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นไปจากเดิม ก็อาจจะไม่เผชิญกับมาตรการรัฐมากเท่าใด แม้กิจการนั้นจะไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม สิ่งที่พบสอดคล้องกับทัศนคติของนักลงทุนจำนวนมากที่ยังไม่มั่นใจในมาตรการของรัฐในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้การศึกษาเชิงประจักษ์ยังพบว่าความเสี่ยงคาร์บอนไม่ได้แฝงตัวอยู่ในปัจจัยความเสี่ยง (Risk Factors) ของหุ้นสามัญที่เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงวิชาการการเงินในปัจจุบัน การวิเคราะห์ผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นสามัญในประเทศไทยสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้โดยเพิ่มปัจจัยความเสี่ยงทางคาร์บอนในการทำนายผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นสามัญ
การดำเนินงานในส่วนที่สามเป็นการนำเสนอทางเลือกในการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonizing Portfolio) สำหรับนักลงทุน และ กรอบวิธีการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดการปล่อยคาร์บอนที่เหมาะสมสามารถใช้เป็นแนวทางเพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายคาร์บอนตามที่ได้ทำความตกลงไว้ โดยได้มีการนำเสนอดัชนี “สีเขียว” 3 รูปแบบ คือ ดัชนีจากการเลือกไม่ลงทุน (Negative Screening) การกำหนดเป้าหมายคาร์บอน และการสร้างดัชนีลดการปล่อยคาร์บอน อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลของการทดสอบกลยุทธ์การลงทุนที่มีการคำนึงถึงการลดการปล่อยคาร์บอน โดยการศึกษานี้ได้มีการเลือกใช้วิธีการหาน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ทำให้ดัชนีที่สร้างขึ้นมีการเบี่ยงเบนจากดัชนีที่อ้างอิง (Tracking Error) ต่ำที่สุด เนื่องจากการจัดทำดัชนีในลักษณะนี้ทำให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ทำให้มีความเหมาะสมกับการลงทุนในกองทุนแบบ Passive Funds โดยดัชนีที่ใช้อ้างอิงคือ SET50
สำหรับข้อเสนอแนะจากโครงการวิจัยนี้ ผู้ออกนโยบายควรสนับสนุนให้มีการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดคาร์บอนและควรกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาก หรือ อีกทางเลือกหนึ่ง ภาครัฐอาจอาศัยกลไกตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการเร่งให้กิจการเหล่านี้ปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เนื่องจากตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนักลงทุนยังไม่ต้องการ Carbon Premium สำหรับการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง (Carbon Footprint) ภาครัฐควรสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อม และ ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินการลงทุนที่สามารถช่วยทำให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนได้ เช่น Green Investment Funds การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนจะช่วยสร้างค่านิยมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กิจการเร่งปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของตนเองลง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจดำเนินนโยบายคู่ขนานโดยการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจให้กิจการที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณมากได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและดำเนินงาน โดยสร้างแรงจูงใจให้กิจการลงทุนในนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างจำกัด การลงทุนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Investing) ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ