อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจน ความต้องการของผู้บริโภค และกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีจึงต้องเตรียม ความพร้อมในการวางแผนและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เพื่อปรับตัวให้ทันกับความท้าทาย และแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจให้ยังคงดำเนินต่อไปได้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย โครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น (PRISM) จึงจัดงาน The 15th PTT Group Petrochemical Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ “Shaping the Future of Petrochemicals Along the Sustainable Pathway” ต่อเนื่องขึ้นเป็นปีที่ 15 และเป็นปีที่สองที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้าร่วม
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาพรวม และแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ได้รับ ผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ชี้ให้เห็นทิศทางการดำเนินงานของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีที่กำลังเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวและช่วยกันนำพาอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พลวัตของโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ไม่ว่าจะรูปแบบการทำงานหรือ การใช้ชีวิตประจำวัน ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งธุรกิจปิโตรเคมีก็ไม่อาจ หนีพ้นพลวัตของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในด้านการผลิต หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสอดดล้อง กับนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละภูมิภาค
หรือการย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศที่มีต้นทุนพลังงานและแรงงานต่ำ หรือบางกลุ่มที่ย้ายไปยังประเทศที่มีพลังงานทดแทน (RE100) ที่มีเสถียรภาพ หรือประเทศที่มีข้อตกลงพิเศษทางการค้า เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ( Value Chain) ทั้งสิ้น
“งานสัมมนา PTT Group Petrochemical Outlook Forum ที่จัดขึ้นนี้ ผู้ร่วมงานจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ ภาพรวมทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบ สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น และเป็นตัวเชื่อมต่อยอดความร่วมมือ (Open Collaboration Platform) ให้กับภาคธุรกิจ ภาคราชการ รวมถึงภาคการศึกษา และสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อมีส่วนช่วยกันส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของประเทศปรับตัวให้ทัน ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร เผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทยยังคงอ่อนแอ ในระยะสั้นยังเติบโตได้ดี มีปัจจัยบวก คือ การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวดีเมื่อเทียบกับปีก่อน หลังการเบิกจ่ายภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ และภาคการผลิตบางกลุ่มเริ่มฟื้นตัวตามวัฏจักรสินค้าคงคลัง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ การบริโภคโดยเฉพาะสินค้าคงทน ยังมีแนวโน้มหดตัวจาก ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหลายกลุ่มเผชิญปัญหา เชิงโครงสร้างที่หดตัว และความไม่แน่นอนด้านการเมืองและนโยบายที่อาจส่งผลต่อภาวะการลงทุนภาคเอกชน
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่มีสัญญาณถดถอย แต่คาดว่าจะชะลอตัวลงหลังจากเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2025 คาดว่าจะโตประมาณ 2% ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง เนื่องจากส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ส่วนเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวจากปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การแก้ไขของจีนคือเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้มีปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน (Over Capacity) ในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งเพิ่มการส่งออกเพื่อรักษาการเติบโตของ GDP
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากความต้องการที่ชะลอลง และปัญหาสินค้าล้นตลาด (Over Supply) จากประเทศจีน
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เล่าถึงทิศทางและแนวโน้ม การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าว่า ในปี 2023 อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างชัดเจน โดยมียอดขายรวมทั่วโลกประมาณ 14 ล้านคัน หลัก ๆ มาจากประเทศจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ขณะที่นอร์เวย์ถือเป็นประเทศแรกในยุโรป ที่กำหนดให้การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดต้อง เป็นรถที่ไม่มีการปล่อยไอเสีย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน ภายในปี 2025 โดยภาครัฐได้สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 1990 เช่น การยกเว้นภาษีและค่าผ่านทางพิเศษ เป็นต้น
ในประเทศไทย การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2023 เพิ่มขึ้นมากกว่า 600% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2022 และประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีกำลังการผลิตรถยนต์มากที่สุดในปี 2023 และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ตามสถิติที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ในประเทศมียอดจำหน่ายประมาณ 6 – 7 แสนคันต่อปี และไม่ปรับตัวขึ้นมากนัก แต่เมื่อมีผู้ประกอบการมากขึ้น มีซัพพลายมากขึ้น การแข่งขันของราคาก็มากขึ้นเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเริ่มเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย แต่ยังคงนำชิ้นส่วนของตัวเอง เข้ามา เนื่องจากชิ้นส่วนสำคัญยังไม่สามารถผลิตในประเทศได้ การพัฒนาผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และทักษะ บุคลากรจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับภาษีคาร์บอน ที่จะมีผลต่อกิจการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง
ด้าน ทีม PRISM Petrochemical Market Outlook กลุ่ม ปตท.ได้วิเคราะห์ความท้าทายและการปรับตัวใน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แบ่งเป็น ตลาดโพลิเอทิลีน (PE) โพลิโพรพิลีน (PP) พาราไซลีน (PX) และเบนซีน (BZ) รวมถึงตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Styrenic) ซึ่งมีทิศทางไปในทางเดียวกันว่า ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้อง กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าและ ความท้าทายในอุตสาหกรรม พร้อมนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ส่งเสริมการรีไซเคิล มุ่งสู่การสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน ทั้งต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อม