เครือซีพีขึ้นเวที GCNT Forum 2024 เผยวิสัยทัศน์ “ทุนมนุษย์” รากฐานสำคัญ สร้างสังคมที่ยั่งยืน

‘GCNT Forum’ การประชุมประจำปีที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก แห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand: UNGCNT) กับองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจยั่งยืนของสมาชิก เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พลิกธุรกิจแห่งอนาคต สร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ

‘ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ’ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์  บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง UNGCNT และ องค์กรผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร สร้างโอกาสในการเข้าถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ในเวทีเสวนา หัวข้อ ก้าวสำคัญของทุนมนุษย์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

หัวเรือใหญ่ด้านความยั่งยืน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ข้อมูลสถิติจากรายงานของสหประชาชาติในปี 2566  ว่าโลกมีความเหลื่อมล้ำ ผู้คน 724 ล้านคนมีสถานะยากจน 735 ล้านคนต้องอดอยากหิวโหย อีกกว่า 1,000 ล้านคนอาศัย อยู่ในสลัม และเด็กกว่า 250 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน จึงมีความจำเป็นที่ภาคเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมช่วยลดความเหลื่อมล้ำนี้ โดยเรียกร้องให้มีความพยายามร่วมกัน มากกว่าการริเริ่มโครงการ CSR ในอดีต

“ภาคเอกชนนับว่ามีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่มีหลายเรื่องที่อาจแก้ไขไม่ได้ในเจนเนอเรชั่นเรา สิ่งที่ท้าทายสำหรับวันนี้ คือ การส่งมอบเครื่องมือให้คนรุ่นใหม่ร่วมแก้ไขปัญหา โดยปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนเข้าสู่ระบบการศึกษา” ดร. ธีระพล กล่าว

ดร. ธีระพล กล่าวต่อว่า ยังจำเป็นต้องบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจหลักด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต (Future Skill) ให้กับบุคลากร โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นฐานการผลิตซี่งแรงงานมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าธุรกิจจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีเพียงใด เรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงนับเป็นความท้าทายอย่างมาก

ADVERTISMENT

5 ด้านขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

ADVERTISMENT

เพราะวิธีการดำเนินธุรกิจตามปกติ ในวันนี้ ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความท้าทายและปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจให้เติบโตยั่งยืน และเดินหน้าเร่งเครื่องให้เข้าใกล้เป้าหมาย SDGs ปี 2030 ให้มากที่สุด  ดร.ธีระพล  ฉายภาพให้เห็นว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานไว้ชัดเจน เรียกว่า 3 Hs  คือ Heart Health และ Home ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ต้องมี  5 เรื่องหลักเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน

เรื่องแรก ความโปร่งใส (Transparency) ด้วยการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนและสื่อสารให้ชัดเจน โดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีพนักงานจำนวนมากถึง 400,000 – 500,000 คน เป้าหมายนี้จะสะท้อนถึงกลยุทธ์ระยะยาว สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ระดับโลก และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยจะต้องรายงาน ความคืบหน้าให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างสม่ำเสมอ

เรื่องที่สอง การสร้างเครือข่ายตลาด (Market Mechanism) เพื่อเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชนให้ร่วมมือกัน
ตาม SDGs ข้อ 17 ‘Partnerships for the Goals’ ยกตัวอย่าง CONNEXT ED ที่ก่อตั้งโดยเครือฯ ร่วมกับสภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย ที่มีแดชบอร์ดรายงานและแสดงผลการปฏิบัติงานเทียบกับเป้าหมาย สำหรับโรงเรียนทั่วประเทศไทย 

เรื่องที่สาม การพัฒนาผู้นำและผู้มีความสามารถพิเศษ (Leadership and Talents) พนักงานของเครือฯ ทุกระดับได้รับการสนับสนุนให้แสวงหาการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยตั้งเป้าหมายว่า 40% ของพนักงานจะต้องมีทักษะดิจิทัลขั้นสูงภายในปี 2569 และยังได้ก่อตั้งสถาบันผู้นำซีพี (CPLI) ที่เขาใหญ่ เพื่อส่งเสริม ‘ผู้นำรุ่นใหม่’ ที่สามารถสานต่อค่านิยมองค์กรในการแสวงหาความเป็นเลิศขององค์กร

เรื่องที่สี่ การเสริมพลัง (Empowerment) นอกจากมีนโยบายที่ดีและตัวชี้วัดที่ชัดเจน เครือฯ ยังส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น CP Seeding Social Impact ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การขยายเครือข่ายพันธมิตร SME เพื่อนำผลประโยชน์ที่จับต้องได้มาสู่ชุมชนของตน 

เรื่องสุดท้ายที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation) 

ที่ศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์การเรียนรู้ และการลงทุนเริ่มต้นหลายแห่งภายในเครือฯ จะมุ่งเน้นการบ่มเพาะผู้มีความสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล

ให้ความสำคัญการศึกษา-พัฒนาทุนมนุษย์

ดร.ธีระพล กล่าวถึงความคืบหน้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในปี 2573 ในปีที่ผ่านมา โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญถึง 17%  ยกตัวอย่าง อาคารของเครือฯ ที่ส่วนใหญ่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆ ผ่านโครงการริเริ่มที่ตอบโจทย์ SDGs ในหลากหลายประเด็น เช่น Seafood Task Force โครงการ SEAcosystem ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล  โครงการ RE4REST ความร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตร เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและลดหมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับสภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาสังคมดิจิทัล และความร่วมมือกับมูลนิธิ CONNEXT ED ที่ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา 

“ทั้งหมดนี้ เป็นการเข้าไปแก้ปัญหา ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำ กลับมาหารือ เป็น PDCA Learning กระบวนการที่ทำให้บุคลากรกว่า 4 แสนคนของเครือฯ พัฒนาตลอดเวลา สิ่งที่มีมิติมากกว่าการมองกำไรขาดทุน ก็คือ การนำโจทย์ของสังคมที่เครือเจริญโภคภัณฑ์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้อง กลับมาคิดแก้ปัญหา แล้วสร้างให้เกิดผลเชิงบวก”

ดร.ธีระพล ได้สรุปเน้นย้ำถึง ความสำคัญของการเตรียมเครื่องมือและความรู้ที่จำเป็นแก่คนรุ่นต่อไป เพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกและรับประกันอนาคตที่ยั่งยืนและเสมอภาคมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคการศึกษา ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย จึงต้องสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนอนาคต โดยเสนอโอกาสในการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Action-based Learning) 

การพัฒนาทุนมนุษย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตและความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร ด้วยการลงทุนในบุคลากรและบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงานหลัก ผนวกเข้ากับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ พร้อมด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ จะช่วยปูทางไปสู่สังคมที่ครอบคลุมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายในอนาคต และร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง