BioPBS™ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ทางเลือกใหม่ นำร่องใช้ที่ ม.ศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี

วิกฤติขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหารุนแรงที่ทั่วโลกต่างเร่งแก้ไขอย่างจริงจังเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า ใน 1 วัน คนไทยใช้ถุงพลาสติกสูงถึง 551 ล้านใบ หรือกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.5 ล้านตัน คงเหลืออีกกว่า 1.5 ล้านตัน ที่ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อม และไหลลงทะเลจำนวนมาก

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS™ พลาสติกทางเลือกใหม่ ที่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ มาผลิตเป็นแก้วกระดาษเคลือบและหลอดไบโอพลาสติก


ปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ให้การสนับสนุนเม็ดพลาสติก BioPBS™ ในการผลิตแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติกกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในโครงการ Be Smart Be Green การใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการสนับสนุนเม็ดพลาสติกเพื่อการวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลพลาสติกแบบย่อยสลายได้ และร่วมกันส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักถึงการใช้และการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกอีกช่องทางหนึ่ง

“ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ GC ให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง GC ยังมีนโยบายจะนำเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ทั้งชนิด PLA และ PBS มาผลิตในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยการย่อยน้ำตาลอ้อยให้กลายเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไบโอพลาสติก”

การลดปริมาณการใช้พลาสติกย่อมส่งผลกระทบโดยตรงในเชิงธุรกิจ GC จึงกำหนดเป้าหมาย ในการพัฒนาเม็ดพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ Single-use plastic หรือใช้แล้วทิ้ง ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทนถาวรมากขึ้น อาทิ ท่อน้ำ สายไฟ และเส้นใยต่างๆ ภายในระยะเวลา 5 ปี และนำไบโอพลาสติกเข้ามาใช้เป็นวัตุดิบในการผลิต Single-use plastic เพื่อลดภาระของสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

อาจารย์ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้นำบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS™ ไปใช้ภายในวิทยาเขตเพชรบุรีเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นวิทยาเขตที่ถูกออกแบบให้เป็น Green Campus ต้นแบบวิทยาเขตที่มีการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด 21 ปี ก่อนจะขยายความสำเร็จไปยังวิทยาเขตอื่นต่อไป ไม่เพียงแค่หลอดไบโอพลาสติกที่เป็นผลงานการวิจัยของคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยยังมุ่งมั่นในการนำพลาสติกที่ย่อยสลายได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ถุง จาน ช้อน ส้อม เพิ่มเติม

“มหาวิทยาลัยศิลปากรยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ GC ในการสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS™ ในฐานะมหาวิทยาชั้นนำด้านการออกแบบ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยจึงเดินหน้าร่วมมือกับผู้ผลิตทั้งระดับต้นน้ำ และปลายน้ำ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ให้มีรูปลักษณ์สวยงามและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค”

ที่ผ่านมา GC ยังได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม Zero-Waste ซึ่งผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ BioPBS™ ที่สามารถย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน และร่วมรณรงคร์สร้างความเข้าใจกับชาวจุฬาฯและชุมชนรอบข้างเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยเริ่มจากการคัดแยก จัดเก็บ การรีไซเคิล และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สำหรับ BioPBS™ เป็นเม็ดพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติ อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด จึงสามารถย่อยสลายด้วย 3 ปัจจัยคือจุลินทรีย์ ความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสม กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องมีการกระบวนการจัดการแบบพิเศษใดๆ

อย่างไรก็ตาม GC ตั้งเป้าที่จะร่วมมือและสนับสนุนมหาวิทยาลัยและองค์กรการศึกษาต่างๆในการใช้พลาสติกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่สามารถใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน