จับตาแก๊งผลประโยชน์ กทพ. ชักใยสหภาพฯ ขวางยุติเจรจา มหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน !

       ยังคงเป็นที่จับตาของทั้งสื่อมวลชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง

       กรณีการเจรจาไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาททางกฎหมาย ระหว่างหน่วยงานของรัฐ นั่นก็คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ “กทพ.” กับเอกชน ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ “BEM”

       เพราะกรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ มิได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะกทพ., BEM หรือผู้ใช้ทางด่วนในเมืองหลวงเท่านั้น

       แต่ยังพัวพันไปถึงประเด็นที่ว่า ถ้าเจรจากันไม่สำเร็จ เรื่องยังไม่จบ

       อาจทำให้รัฐต้องนำเอางบประมาณจากเงิน “ภาษี” ไปจ่ายค่าเสียหายให้กับฝ่าย BEM ตามคำสั่งศาล ซึ่งตัดสินไปเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา

       โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้ กทพ. ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขัน
ในปี 2542-2543 ให้แก่ บริษัท BEM เป็นจำนวน 4,318 ล้านบาท ขณะที่คดีนี้มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าร่วมๆ 75,000 ล้านบาท

       นอกจากนั้น กทพ. กับ BEM ยังมีคดีพิพาทอื่นๆ อีก รวมทุกคดีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท  

       เพื่อเป็นการ “ปลดล็อก” หาทางออก ในส่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบันจึงพยายามขอให้ กทพ.
เจรจากับ BEM เพื่อหาทางออกแบบ
“วิน-วิน” หรือยอมรอมชอมกันบ้าง เพื่อเห็นแก่ประโยชน์โดยรวม

       ซึ่งอันที่จริงด้วยมติการเจรจาเบื้องต้นนั้นทาง “บอร์ดกทพ.” ก็มีมติวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ออกมา
เพื่อยุติข้อพิพาทและการฟ้องร้องทั้งหมดด้วยการขยายอายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่สอง และทางด่วนบางปะอิน แต่ฝ่ายเอกชน คือ BEM ต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนดด้วย อาทิเช่น

       – การขึ้นค่าผ่านทางต้องเป็นแบบฟิกซ์เรต ปรับได้แค่สิบบาททุกสิบปี

       – ต้องแบ่งรายได้ให้ กทพ. ตลอดอายุสัญญา

       – BEM ต้องควักกระเป๋าลงทุน 32,000 ล้านสร้างทางด่วน 2 ชั้นช่วงประชาชื่นไปอโศก ระยะ 17 ก.ม. เพื่อแก้ปัญหารถติด

       ทางออกดังกล่าวดูเหมือนสามารถเดินหน้าไปด้วยดี

       เพราะทาง BEM แสดงท่าทียอมกลืนเลือด พร้อมยอมรับข้อเสนอเพื่อจะได้จบปัญหาต่างๆ
ที่คาราคาซังมานานหลายสิบปี  ตามประสาคนทำมาหากินที่ไม่อยากค้าความให้วุ่นวาย

       ที่สำคัญเกมนี้ถึงลากยาวไป ท้ายที่สุดไม่ว่าฝ่ายรัฐ หรือเอกชนเอง ไม่มีใครชนะร้อยเปอร์เซ็นต์…

       แต่คนที่จะชนะแบบสบายๆ คือ สถาบันการเงินที่รับ “ดอกเบี้ย” เงินกู้ไปกินแบบสบายๆ

       มิหนำซ้ำถ้าเกิดรัฐแพ้คดี เอา “ภาษี” ของคนทั้งประเทศไปจ่ายให้ “BEM” ตามคำสั่งศาล ภาพที่ออกมาก็ไม่มีผลดีอะไรกับ “BEM”

 

       ดังนั้นหลายฝ่าย แม้แต่สื่อสายเศรษฐกิจ-คอลัมนิสต์สายธุรกิจ ส่วนใหญ่ก็มองไปทางเดียวกันว่า ทางออกตามมติเจรจา 20 ธันวาฯ 61 นั้น “วินวิน” เหมาะสมแล้วในการนำไปปฏิบัติ

       อย่างไรก็ตาม ทางออกที่เปิดไว้กลับต้องชะงัก !

       เมื่อเกิดมี “ขบวนการกลุ่มผลประโยชน์” ในกทพ. เข้ามาครอบงำการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.)  

       ทั้งยังมี “อดีตผู้บริการ กทพ.” ระดับสูงบางคน อยู่หลังฉากแก๊งชักใยร่วมกับคนบางกลุ่มคนสหภาพฯ กทพ. ด้วย

       เนื่องจากกลัวว่า ถ้างานนี้เจรจากันได้สำเร็จตัวเองก็จะถูกแฉโพยขนานใหญ่ และคงต้องโดนสอบวินัยเพิ่มอีก โทษฐานปล่อยปละละเลยจนทำให้รัฐเสียหายหนัก

       ข่าวเชิงลึกจาก กทพ. เปิดเผยว่า ให้จับตาดูการประชุมบอร์ดกทพ. ครั้งใหม่ ในวันพฤหัสบดีที่
21 ก.พ. นี้ให้ดี

       โดยตามกำหนดการ บอร์ดฯ จะนำเอา “ความเห็นแย้ง” ต่างๆ ของฝ่ายสหภาพฯ เรื่องการคลี่คลายปัญหามาหารืออีกรอบ ว่า..

       มีข้อเห็นด้วย เห็นต่าง เห็นแย้งอย่างไร และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อประโยชน์สูงสุดของ
หน่วยงาน  มิใช่ของคนเพียงบางส่วนที่มีผลประโยชน์เบื้องหลัง และจะได้ส่งให้
“ครม.” พิจารณาต่อไป
ตามขั้นตอน

       แต่มีรายงานข่าวว่า กลุ่มขบวนการกลุ่มผลประโยชน์ เตรียมเดินหมากป่วนการประชุมบอร์ดกทพ.
ในวันที่ 21 ก.พ. เอาไว้แล้ว

       เป้าหมายหลักของการเคลื่อนไหวของแก๊งผลประโยชน์ในกทพ. ประกอบด้วย

       หนึ่ง, ต้องการล้มผู้ว่าฯ กทพ. เพื่อล้างมลทินตัวเอง เนื่องจากคนที่นำกลุ่มเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นแกนนำชักใยนั้น อันที่จริงเคยต้องคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริต  

       ซึ่งในที่สุดถึงแม้นว่าจะยอมจ่ายคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยค่าปรับ ภายหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
แต่ขณะนี้ทางผู้บริหารกทพ. ยุคปัจจุบัน ก็เปิดสอบสวนผู้กระทำผิดในประเด็นนี้อยู่

       สอง, ฝ่ายผู้ไม่หวังดีใน สหภาพกทพ. ร่วมกับกลุ่มอดีตผู้ว่าฯ บางคน ต้องการ “ยึดสัญญาสัมปทานทางด่วน” กลับเข้ามาหาประโยชน์ส่วนตัว ฉะนั้นหนึ่งในแผนการเริ่มต้นคือต้องขวางการเจรจาขยายอายุสัมปทานให้เอกชนแลกกับการยุติคดี

       สาม, ตัวเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการหวังกดดันบอร์ดและผู้บริหารกทพ. เพื่อเอาคืนจากการที่พวกตน
ไม่ได้รับการโปรโมทเรื่องตำแหน่งหน้าที่

       สี่, ถ้ามองลึกลงไปอีกขั้น มีความเป็นไปได้ที่อาจมี “กลุ่มการเมือง” ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเข้ามา
ขอแจมร่วมวงกับแก๊งประโยชน์ในกทพ.  เพื่อจะได้อาศัยประเด็นข้อพิพาท ระหว่างกทพ.-BEM ร่วมเตะ
ตัดขารัฐบาล

       กล่าวกันตรงๆ ก็คือ เกมนี้กลุ่มผลประโยชน์ในกทพ. ไม่ได้มองเลยว่า ประเทศชาติจะได้อะไร
ประชาชนจะได้อะไร คิดแค่ว่าให้ตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้นพอ !?

       ในส่วนความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนอย่าง BEM ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ก็ได้ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

       เนื้อหาหลักๆ ระบุว่า ที่ประชุมบอร์ด BEM มีมติอนุมัติให้นำเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 18 มี.ค. 2562 เพื่อพิจารณาให้ BEM และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (บริษัทย่อย)  ยุติข้อพิพาททั้งหมด
กับกทพ. โดยแลกกับการขยายเวลาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และสายบางปะอิน-ปากเกร็ด
ให้ไปสิ้นสุดในปี 2600

       อย่างไรก็ตาม ฝ่าย BEM เองก็ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ทาง กทพ. เสนอตั้งขึ้นมา อาทิ

       – ต้องแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง ทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ในเมืองร้อยละ 40 ให้กทพ. และต้องให้รายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดจากทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนซี และส่วนดีให้กทพ.

       – ต้องยกรายได้ทั้งหมดจากทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้กทพ.

       – ในเรื่องการปรับค่าผ่านทาง ต้องปรับแบบคงที่ ทุกระยะเวลา 10 ปีสำหรับรถทุกประเภท
เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

       – BEM ต้องลงทุน (จ่ายเงินเอง) ในการก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 ใช้งบฯ ราว 31,500 ล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหารถติด ทั้งนี้ การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นเมื่อรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรืิอ อีไอเอ ของกทพ. ได้รับความเห็นชอบแล้ว

       จะเห็นว่าในส่วนของเอกชนนั้นพร้อมยอมรับข้อเสนอจากการเจรจายุติ “มหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน” ยอมรับปฏิบัติตามกติกาต่างๆ ที่กทพ. กำหนดขึ้น

       คำถามชวนคิดก็คือ รัฐบาลและดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าฯ กทพ. จะบริหารจัดการอย่างไรกับกลุ่มผลประโยชน์ที่คอยชักใยสหภาพกทพ. บงการให้คอยเคลื่อนไหว ขนม็อบไปกดดันเรียกร้องต่างๆ นานา โดยไม่สนใจฟังเหตุผลในภาพรวมภาพใหญ่ หรือจะปล่อยให้คนกลุ่มนี้
สำแดงอิทธิฤทธิ์กันต่อไป !?