“ฟันตกกระ” เพราะ ฟลูออไรด์ อันตรายที่พ่อ-แม่ควรระวัง

      “ฟัน” หนึ่งในอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ฉีก บด อาหารให้ละเอียด ก่อนส่งต่อไปยังระบบย่อยอาหาร เพื่อดูดซึมนำเอาสารอาหารที่มีประโยชน์ไปใช้กับร่างกาย ฟันยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการพูด ทำให้เราออกเสียงได้อย่างชัดเจน และเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ใบหน้าและรอยยิ้มของเราดูสวยงาม ดังนั้นสุขภาพฟันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะฟันที่ป่วยส่งกระทบต่อร่างกายได้มากกว่าที่คิด

      ในทุกๆวันเคลือบฟันของเราจะสูญเสียแร่ธาตุและเสริมสร้างแร่ธาตุคืนกลับให้ตัวมันเองเพื่อสร้างสมดุล ซึ่ง“ฟลูออไรด์” มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเร่งการคืนแร่ธาตุ เสริมสร้างฟันของเราให้แข็งแรง หากวันใดที่เราสูญเสียเคลือบฟันปริมาณมาก แต่ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมกลับคืน ฟันของเราก็จะถูกกรดจากแบคทีเรียทำลายจนเกิดฟันผุได้ ทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าฟลูออไรด์มีประโยชน์กับสุขภาพฟัน

      ฟลูออไรด์ เป็นธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งในน้ำ พื้นดิน อากาศ พืช และสัตว์ ฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบที่ช่วยเสริมสร้างให้กระดูกและฟันแข็งแรง ถ้าร่างกายได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณเหมาะสมจะช่วยลดอัตราโรคฟันผุได้กว่าร้อยละ 60 เลยทีเดียว และยังช่วยลดอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนของผู้สูงอายุได้อีกด้วย แต่หากได้รับฟลูออไรด์เกินความต้องการของร่างกาย ประโยชน์ที่มีก็จะกลายเป็นโทษทันควัน

      ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีแหล่งแร่ฟลูออไรด์หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันตก ด้วยฟลูออไรด์เป็นสารที่ไม่มีสี กลิ่น และรส ทำให้คนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวดื่มน้ำที่มีปริมาณฟลูออไรด์มากเกินความต้องการของร่างกายโดยไม่รู้ตัว ยิ่งหากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นและต่อเนื่องก็จะส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน ทำให้ผิวเคลือบฟันเป็นรู และมีสีขาวขุ่น ในรายที่เป็นรุนแรงผิวฟันจะมีสีน้ำตาล เกิดอาการเสียวฟัน ทำให้ฟันใช้งานไม่ได้เต็มที่ ซึ่งความเสียหายเหล่านี้มักจะพบในเด็ก เนื่องจากเคลือบฟันถูกทำลายตั้งแต่ระยะสร้างฟัน และไม่สามารถรักษาให้กลับสู่ภาวะปกติได้ มีทางแก้ไขเพียงทางเดียวคือการครอบฟัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่คงทนถาวร

      ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพฟันเท่านั้น นักวิจัยจากประเทศอังกฤษยังพบว่า เด็กๆที่ดื่มน้ำที่มีสารฟลูออไรด์มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน สารฟลูออไรด์จะสะสมในกระดูก เเละเกิดพิษต่อกระดูก ทำให้กระดูกผิดรูป ปวดข้อปวดกระดูก หลังแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก เกิดโรคกระดูกเเข็งด้าน กระดูกพรุน กระดูกเป็นใย จนอาจนำไปสู่ความพิการในที่สุด

      ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือการป้องกัน เมื่อทราบว่าแหล่งน้ำมีปริมาณฟลูออไรด์ที่มากเกินไป ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งน้ำนั้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรกรองฟลูออไรด์ออกให้น้อยลง หรือต้มน้ำก่อนนำมาใช้นั่นเอง มาร่วมป้องกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของเยาวชนไทย

เพื่อสานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพสกนิกรไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมนำทีมทันตแพทย์จิตอาสา ร่วมให้บริการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในงาน เฮลท์แคร์ ครั้งที่ 11 ยิ่งใหญ่กว่าเดิมกับสถานที่ใหม่ บนเนื้อที่กว่า 5,000 ตร.ม. ภายในฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี มหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่คนรักสุขภาพห้ามพลาด พบกัน 27-30 มิถุนายน 2562