4 สาขาใหม่รับโลกดิจิทัลจากม.กรุงเทพ ตอบแนวคิด Creativity + Technology อนาคตแบบไหนก็ไร้ขีดจำกัด

ปัจจุบันการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของไทยพลิกโฉมไปมาก จากเดิมผู้เรียนมีตัวเลือกไม่มากนักและต้องเรียนเฉพาะสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนเท่านั้น ต่างจากทุกวันนี้ที่มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการออกแบบหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและตลาดงาน ซึ่งตลาดงานที่เปลี่ยนไปจากผลพวงของไลฟ์สไตล์ ค่านิยม และเทคโนโลยีนั้น ก่อให้เกิดหลักสูตรแปลกๆ ใหม่ๆ เฉพาะทางที่คนรุ่นก่อนๆ ไม่เคยได้ยินมากมาย

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ปรับปรุงและสร้างสรรค์หลักสูตรให้ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนและตลาดงานเสมอมา โดยในปีการศึกษา 2563 ที่จะถึงนี้ ก็เตรียมเปิดอีก 4 สาขาวิชาใหม่ที่สนองตอบแนวคิดล่าสุดของมหาวิทยาลัยที่ว่า C+T หรือ Creativity + Technology เมื่อความคิดสร้างสรรค์ผสานกับเทคโนโลยี อนาคตแบบไหนก็ไร้ขีดจำกัด เพราะทุกสาขาวิชาใหม่นี้เป็นการผสมผสานศาสตร์ทางเทคโนโลยีเข้ากับความคิดสร้างสรรค์อย่างลงตัว

เส้นทางสู่การเป็นนักสร้างประสบการณ์ดิจิทัลและนักสร้างสื่อสตรีมมิ่ง

2 สาขาแรกมาจากคณะนิเทศศาสตร์ นั่นคือ สาขาวิชาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล (Creative Content Production and Digital Experience) ที่จะสอนให้รู้จักนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสร้างเนื้อหาและเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจมากกว่าการนำเสนอในรูปแบบเดิมๆ ตัวอย่างหนึ่งของการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลคือ การนำเทคโนโลยี Mapping ยิงไปยังตึกเพชร สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อค่ำคืนงาน Open House 29-31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ร่วมชมได้อย่างมาก สาขาวิชานี้นี่เองที่จะผลิตบัณฑิตให้ออกไปคิดสร้างสรรค์งานลักษณะดังกล่าวได้

ส่วนอีกสาขาหนึ่งคือ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง (Broadcasting and Streaming Media Production) ที่นอกจากจะยังคงสอนการทำรายการวิทยุและโทรทัศน์ด้วยอุปกรณ์แบบที่ใช้ในอุตสาหกรรมจริงแล้ว ยังสอนการสร้างสรรค์สื่อสตรีมมิ่งซึ่งเป็นสื่อที่ใช้เผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอในยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ออนไลน์แพลตฟอร์ม เช่น Netflix เรียกว่าสอนให้ผู้เรียนทำได้ครบจบทุกแพลตฟอร์มในตัวคนเดียว

วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ฯ ที่แรกและที่เดียวของเมืองไทย

ในขณะที่ใครๆ กำลังวิตกว่า AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานคน จะดีกว่าไหมถ้าเราเป็นวิศวกรที่สามารถสร้างเทคโนโลยี AI ขึ้นได้เอง ดังนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงเปิดสาขาวิชาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูลขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรป.ตรีภาษาไทยหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของเมืองไทยในขณะนี้ นอกจากนี้ยังประสานความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลหรือ Data Science เข้าไปด้วย เพราะข้อมูลที่หลั่งไหลในโลกดิจิทัลหรือที่เรียกว่า Big Data นั้นล้วนมีความสำคัญในการหยิบจับมาใช้ในการสร้าง AI นั่นเอง ใครที่เรียนจบสาขานี้ไปจึงรับประกันได้ว่าจะสามารถนำข้อมูลมาใช้สร้าง AI ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้อย่างแท้จริง

อยากเป็น Data Scientist หรือ Cybersecurity ก็เลือกได้

2 อาชีพที่ตลาดงานไอทีกำลังต้องการตัวเป็นอย่างมากคือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) และผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) โดยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลนั้น นอกจากจะต้องวางโปรแกรมเพื่อจัดการ Big Data ที่มีมากมายมหาศาลให้แก่องค์กรแล้ว ยังต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญสำหรับนำไปใช้ และต้องสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นให้ได้ด้วย อาชีพนี้ยังขาดแคลนอย่างมาก ส่งผลให้มีรายได้สูงลิ่ว ขณะที่โลกไซเบอร์ก็ต้องการ “ตำรวจไซเบอร์” เพื่อมาวางโปรแกรมปกป้องการโจรกรรมข้อมูล รวมทั้งป้องกันการรั่วไหลและปลอมแปลงข้อมูล นับเป็นอีกอาชีพที่ตลาดต้องการตัวมากและรายได้งามเช่นกัน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมจึงเปิดสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้เลือกแทร็กเรียนตามใจชอบ
ทั้งหมดนี้คือ 4 สาขาใหม่ที่ไม่เพียงขานรับแนวคิด C+T อนาคตแบบไหนก็ไร้ขีดจำกัดของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่ยังตอบโจทย์ตลาดงานในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกมิติด้วย (สมัครได้แล้ววันนี้ / รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://www.bu.ac.th/th/curriculum/bachelors-degree)