“โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี” ต้นแบบวิศวกรรมสร้างสมดุลอย่างยั่งยืน

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ยามพลบค่ำ

        หลังจากใช้เวลาศึกษาและพัฒนาโครงการร่วม 10 ปี โดย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และมีบริษัท ช.การช่าง (ลาว) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างด้วยมาตรฐานสูงสุด ผ่านอุปสรรคสำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านจุดวิกฤตของการก่อสร้าง ปรับเปลี่ยนรูปแบบผสมผสานเทคโนโลยีที่เหมาะกับพื้นที่ ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขง ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมขายไฟเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ หรือ Commercial Operation Date- COD ในวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2562

        ทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” มีโอกาสลงพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในช่วงที่การก่อสร้างที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 99.86% นำชมโรงไฟฟ้าโดย “นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ที่แสดงถึงความพร้อมของการผลิตไฟฟ้า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม และผู้พัฒนาโครงการคอยอธิบายถึงแนวคิด การออกแบบ ตลอดจนการก่อสร้างจนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าอย่างละเอียด
นายธนวัฒน์ อธิบายว่า สืบเนื่องจากนโยบายที่สปป.ลาวได้วางแผนแม่บทการพัฒนาประเทศโดยใช้พลังงาน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ซึ่งศักยภาพด้านภูมิประเทศที่มีเขาสูงชันประกอบกับมีแม่น้ำสากลสายหลักอย่างแม่น้ำโขงไหลผ่าน เหมาะสมกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยิ่ง CKPower เป็นบริษัทไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลสปป.ลาว ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ตั้งอยู่บนแม่น้ำงึมซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โดยส่งไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปัจจุบันเปิดทำการขายไฟเชิงพาณิชย์ไปแล้ว

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

        สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็น 1 ใน 11 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีศักยภาพสูงบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ลักษณะเป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่(Run-of-River) เป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงระหว่างแขวงไซยะบุรีและหลวงพระบาง มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท มีสัญญาสัมปทาน 31 ปี สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี โดย 95% จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 5% ส่งให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) นับเป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์ของน้ำจากแม่น้ำโขงอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นสัญญาณที่ดีในการก้าวเข้าสู่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียนของ CKPower
กรรมการผู้จัดการ CKPower อธิบายเพิ่มเติมว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ก่อสร้างด้วยแนวคิด “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ทุกประการ เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากล การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ CKPower จึงต้องมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย ดังนั้น จากเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท CKPower ได้ลงทุน 19,400 ล้านบาท เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ ความปลอดภัย ตะกอน และ ปลา โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน และสังคม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงขั้นตอนการติดตั้ง เช่น บานประตูระบายน้ำ กังหันน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลง ระบบส่งไฟฟ้า

โครงสร้างที่แข็งแรงของบานประตูระบายน้ำ (Spillway / Low Level Outlet)

        “เพื่อการเป็นต้นแบบ “โรงไฟฟ้ามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด” โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทุกด้าน กำหนดมาตรฐาน Dam Safety ต้องสูงที่สุด โดยศึกษาสถิติแผ่นดินไหวและสถิติปริมาณน้ำหลากย้อนหลัง เลือกใช้ค่าความปลอดภัยสูงสุดในการคำนวณโครงสร้างและใช้มาตรฐานสูงสุดในการก่อสร้าง สร้างความแข็งแรงให้โครงสร้างด้วยการเสริมเหล็กคุณภาพสูงเพื่อให้โครงสร้างของโรงไฟฟ้า มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวมากกว่าเขื่อนทั่วไปถึง 4 เท่า และสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้ถึง 47,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยน้ำหลากสูงสุดจากสถิติฝนหมื่นปี
“ส่วนการระบายตะกอนที่มากับแม่น้ำโขงนั้น โรงไฟฟ้าได้ได้สร้างประตูระบายน้ำและตะกอน (Spillway / Low Level Outlet) จำนวน 11 บาน โดย 7 บานเป็นบานประตูระบายน้ำล้นและตะกอนแขวนลอยที่พัดมากับสายน้ำ ขณะที่อีก 4 บาน ติดตั้งบานประตูเพื่อระบายตะกอนหนัก ลึกลงไปถึงระดับใต้ท้องน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าตะกอนหนักที่พัดมากับน้ำ สามารถผ่านไปได้ เสมือนว่าไม่มีสิ่งก่อสร้างกีดขวาง
“อีกหนึ่งทรัพยากรของแม่น้ำโขงที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ให้ความสำคัญคือ ปลา ดังนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จึงศึกษาระบบนิเวศ พฤติกรรมปลาแม่น้ำโขงโดยผู้เชี่ยวชาญ แล้วเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อที่จะลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จึงออกแบบทางปลาผ่านเพื่อให้ปลาอพยพขึ้นเหนือน้ำเพื่อวางไข่ได้อย่างปลอดภัย” กรรมการผู้จัดการ CKPower กล่าว
“นายอานุภาพ วงศ์ละคร” รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด อธิบายถึงโครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ว่า โครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีจุดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมทุกจุด การลงทุนเพิ่มเติมในระบบที่ซับซ้อนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จุดเด่นของโครงสร้างหลักเพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์คทางด้านการสัญจรและท่องเที่ยวคือ ช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวให้สัญจรได้ตามปกติ ด้วยความกว้าง 12 เมตร ยาวกว่า 700 เมตร จึงรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 500 ตัน พร้อมกัน 2 ลำ

อานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด

        “แต่เดิมบริเวณนี้จะเป็นแก่งหิน ทำให้เดินเรือผ่านย่านนี้ทำได้ยาก เรือใหญ่จะติดแก่งตอนหน้าแล้ง เมื่อมีการก่อสร้าง Navigation Lock ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ปัญหาการติดแก่งของเรือขนาดใหญ่ก็หมดไป ขณะที่เรือขนาดเล็ก โครงการได้เตรียมรถแทร็กเตอร์ลากเรือระหว่างเหนือน้ำและท้ายน้ำ เพื่อประหยัดเวลา ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้า และเรือท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านโครงการทุกวัน ทั้งเรือขนส่ง และเรือท่องเที่ยวที่ล่องมาจากหลวงพระบาง ปริมาณเพิ่มขึ้นเดือนละ 40 ลำ โดยในช่องทางเดินเรือนี้ นอกจากจะแก้ปัญหาการสัญจรให้กับประชาชนได้แล้ว ยังเป็นหนึ่งในช่องทางปลาผ่านด้วย โดยโรงไฟฟ้าจะมีเรือต้อนปลา หรือ Pontoon เพื่อเร่งให้ปลาอพยพเร็วยิ่งขึ้น”
โครงสร้างที่แข็งแรงของ ประตูระบายน้ำและระบายตะกอน หรือ Spillway/Low Level Outlet ขนาดมหึมาจำนวน 11 บาน สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยหน้าที่หลักคือระบายน้ำล้น เป็นหลักการบริหารจัดการน้ำ กรณีที่มีน้ำมามากเกิน 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเกินความต้องการผลิตไฟฟ้า โดยจะระบายน้ำส่วนเกินเพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำไหลเข้าให้เท่ากับน้ำไหลออก พร้อมทั้งทำหน้าที่ระบายตะกอนที่พัดมากับสายน้ำ ทั้งตะกอนหนักและตะกอนผิวน้ำให้ผ่านโครงการไปสู่ท้ายน้ำเป็นอาหารปลาและปุ๋ยธรรมชาติต่อไป
ถัดจาก Spillway เป็นส่วนที่เรียกว่า Intermediate Block หรือเกาะกลาง หน้าที่ของบริเวณนี้คือเป็นส่วนที่ปิดช่องว่างระหว่างโครงสร้างหลัก ตั้งแต่ Navigation Lock , Spillway และโรงไฟฟ้า (Powerhouse) รวมทั้งระบบทางปลาผ่าน เกาะกลางโรงไฟฟ้าใช้คอนกรีตชนิดแข็งแรงเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็สร้างทางเข้า-ออกของทางปลาผ่านใน Intermediate Block ด้วย

ประตูระบายน้ำและตะกอน

        สำหรับพื้นที่ของโรงไฟฟ้า หรือ Powerhouse ซึ่งมีกังหันน้ำ (Turbine) ขนาด 5 ใบพัด เส้นผ่านศูนย์กลาง 8.6 เมตร น้ำหนัก 400 ตันติดตั้งไว้ด้านล่าง เหตุผลของการเลือกกังหันน้ำ 5 ใบพัด ความเร็วของรอบหมุนช้า รวมทั้งการเรียง Turbine ให้กระจายตามความกว้างของลำน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์ Fish Friendly ที่เป็นมิตรกับปลาในแม่น้ำโขง เปิดโอกาสให้ปลามีทางเข้า-ออกตลอดโครงการ เรียกได้ว่า ทุกส่วนของโรงไฟฟ้าแห่งนี้คำนึงถึงปลา และระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง

ช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีจากฝั่งหลวงพระบาง และระบบทางปลาผ่านรูปตัวยู (U) ที่เชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้า

จุดที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดก่อนเปิดโรงไฟฟ้าคือ ระบบทางปลาผ่าน ที่ออกแบบเพื่อปลาแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ ใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมปลาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 1 ปี ที่บริเวณตลิ่งแม่น้ำโขง เพื่อนำมาออกแบบระบบทางปลาผ่านแบบผสม หรือ Multi-System Fish Passing Facilities ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือทางปลาผ่านหลัก (Fish Ladder) ความยาวประมาณ 500 เมตร ยื่นด้านท้ายน้ำลักษณะคล้ายตัวยู (U) ค่อยๆ เพิ่มระดับความชัน และมีช่องให้ปลาผ่าน 4 ช่อง 3 ขนาด ตามพฤติกรรมของปลา เพื่อให้ปลาว่ายทวนน้ำไปสู่เหนือน้ำอย่างปลอดภัย หลังจากผ่าน Fish Ladder แล้วจะเข้าสู่ส่วนที่เรียกว่า Fish Lock หรือช่องยกระดับปลาเป็นส่วนที่ติดกับโรงไฟฟ้า เชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำด้านเหนือโรงไฟฟ้า โดยค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำในช่องนี้ก่อนจะปล่อยปลาที่คลองส่งปลาเพื่อให้ว่ายสู่เหนือน้ำต่อไป

Fish Lock หรือช่องยกระดับปลา

        ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่มีแนวทางการดำเนินงาน บนสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม และการลงทุนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมสูงถึง 19,400 ล้านบาท มีการศึกษาระบบนิเวศโดยรอบอย่างละเอียดก่อนเริ่มก่อสร้าง เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยที่สุดจากทั่วโลก และยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยสูงสุด เพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นต้นแบบมาตรฐานในการลงทุนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน