คนรักสุขภาพไม่ต้องกังวล ไก่ไม่ใช่สาเหตุของโรคเก๊าท์

คนไทยหลายคนมีความกังวล และไม่กล้าที่จะบริโภคไก่ เพราะมีความเชื่อว่า การรับประทานเนื้อไก่มากจะทำให้เป็นโรคเก๊าท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบ ที่มีอาการอักเสบฉับพลัน บริเวณข้อปวด บวมแดง ร้อน ตำแหน่งที่พบบ่อ ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า และหัวเข่า

โรคเก๊าท์ เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงมากเกินไป กรดยูริก เป็นสารชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น เกิดจากจากการสลายตัวของสารชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “พิวรีน” (Purine) โดยสาเหตุที่ของกรดยูริกในเลือดสูง ร้อยละ 70-80 เกิดจากการสร้างขึ้นเองจากตับตามธรรมชาติ  ส่วนที่เหลือเพียงร้อยละ 20-30 เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง โรคเก๊าท์เกิดจากการสะสมของผลึกยูริกเป็นเวลานานหลายปี  บางทีอาจจะกินเวลานานถึง 10 ปีผู้ป่วยถึงจะแสดงอาการของโรคออกมา

อย่างไรก็ตาม กรดยูริกที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ร่างกายจะถูกขับออกจากทางปัสสาวะและการขับถ่ายประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ดังนั้น ผู้ที่มีกรดยูริกสูง ส่วนใหญ่จึงเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกายเกี่ยวกับการสร้างกรดยูริกมากเกินไป หรือไตขับกรดยูริกน้อยเกินไปมากกว่าจากการบริโภคอาหาร ที่สารพิวรีนสูง ดังที่เข้าใจผิดกันบ่อยๆ 

ในข้อเท็จจริง เนื้อไก่มีปริมาณสารพิวรีนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ซึ่งสารพิวรีนจะอยู่มากที่เนื้อบริเวณข้อ ปีก น่อง เครื่องใน และหนัง  รวมถึง ผักบางชนิดมีสารพิวรีนในปริมาณสูง เช่น ชะอม กระถิน เป็นต้น ตลอดน้ำหวาน และ การดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลฟรุกโตสเกินปริมาณที่พอดี  โดยเฉพาะ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ยังเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เพิ่มการสะสมกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอีกด้วย 

ดังนั้น การบริโภคไก่ จึง “ไม่ใช่” สาเหตุของโรคเก๊าท์ เพราะร่างกายได้รับกรดยูริกมาจากอาหารประเภทอื่นๆ ได้อีกมากมาย  อีกทั้งสาเหตุที่ทำให้กรดยูริกเพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัยและไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน รวมทั้ง สภาวะของร่างกายบางอย่างเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรค เช่น ภาวะอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าวอีกด้วย

คนรักสุขภาพจึงไม่ต้องกังวลใจ เพราะไก่ไม่ใช่ต้นเหตุของการเป็นโรคเก๊าท์ และเนื้อไก่ ยังคงมีความจำเป็นเพราะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ร่างกายต้องการ อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นโรคเก๊าท์ ควรระมัดระวังและลดการบริโภคเนื้อไก่ ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะ และเลือกเนื้อส่วนที่มีไขมันน้อย เช่น เนื้อหน้าอก สะโพกที่ลอกหนัง  

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์ ควรจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตเพื่อช่วยให้อาการของอาการป่วยของโรคทุเลาลง  ควรเลือกทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ทานอาหารประเภทเดิม ซ้ำกันเป็นเวลานาน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน รวมทั้ง การดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ และไม่ทำให้เกิดการตกตะกอนในระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควร หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม หรือ เครื่องดื่มที่มีความหวานมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส รวมทั้ง ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ควรอดอาหารหรือลดน้ำหนักรวดเร็วเกินไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคลดลง และเพื่อสุขอนามัยที่ดี

นพ.ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมโภชนาการเพื่อกีฬาและสุขภาพ