‘Women CEO Dialogue’

เวทีจุดประกายพลังผู้หญิงเพื่อขับเคลื่อนสังคม หนึ่งในเรือธงการสร้างระบบนิเวศตลาดทุนที่ยั่งยืนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คือการผลักดันความเสมอภาคและธรรมาภิบาลในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะในมิติด้านสังคมที่จะรวมถึงสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาคทางเพศเป็นหนึ่งในเป้าหมายอันใกล้ที่จะสร้างให้เกิดในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.ล.ต. จึงจัดงานเสวนา ‘Women CEO Dialogue’ ขึ้นเพื่อต้อนรับวันสตรีสากลในวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งนับเป็นการรวมตัวของผู้หญิงเก่งและระดับหัวกะทิในแวดวงธุรกิจแทบจะในทุกอุตสาหกรรมไว้ในงานเดียวร่วมถกและให้ข้อคิดเห็นการสร้างพลังของผู้หญิงในวงการต่าง ๆ ทั้งภาคการเงิน ธุรกิจพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมบันเทิง ภาคการเมือง และภาคราชการ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงเป้าหมายของการขับเคลื่อน Women’s Empowerment ในบริษัทจดทะเบียนไทยว่า ประเทศไทยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มบทบาทสตรีในบอร์ดผู้บริหาร โดยระบุใน CG Code เหมือนกับอีกหลายประเทศ ในขณะที่บางประเทศกำหนดเป็นเกณฑ์ข้อบังคับหรือโควตา (gender quota) ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่า ประเทศไทยให้การยอมรับบทบาทสตรีในระดับที่สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค จากรายงาน Women in Business Report 2020 ของ Grant Thornton พบว่า ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจไทยที่เป็นสตรี มีสัดส่วน 32% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับโลก ซึ่งอยู่ที่ 27% และของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 26% และยืนยันตัวเลขดังกล่าวด้วยข้อมูลเดือนธันวาคม 2563 ที่ระบุว่า จำนวนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นสตรี มี 2,167 คน จาก 10,948 คน หรือคิดเป็น 20% ของกรรมการทั้งหมด และบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ผู้หญิง มีจำนวน 104 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET 78 แห่ง และในตลาด mai 26 แห่ง คิดเป็น 14% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในตลาดทุน “เป้าหมายต่อไปที่ ก.ล.ต. คาดหวังคือในเชิงสถิติ ในปี 2565 อยากเห็นจำนวนผู้บริหารที่เป็นสตรีในจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุน จะต้องมีผู้หญิงนั่งในบอร์ดบริหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของกรรมการบอร์ด แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องย้อนกลับมามองว่าบุคลากรที่เป็นสตรีมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะก้าวสู่ตำแหน่ง ก.ล.ต. จึงหาแนวทางเพิ่มศักยภาพของผู้หญิงทำงาน โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคน Generation ไหน หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจใดเป็นพิเศษ เราร่วมมือกับหลายฝ่าย เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว UN Women ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน ส่วน ก.ล.ต. เป็นตัวแทนของตลาดทุน เพื่อผลักดันศักยภาพของผู้หญิงให้ได้มากที่สุด และสร้างโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงความโดดเด่นในด้านต่างๆ ซึ่งการจัดเสวนา Women CEO Dialogue ครั้งนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการจุดประกายการขับเคลื่อนพลังของผู้หญิงในภาคธุรกิจให้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งเราได้เชิญผู้บริหารหญิงที่เป็น Role model มาช่วยระดมความคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงทำงาน และร่วมกันปักหมุดการรวมพลังสตรีในภาคธุรกิจเพื่อเริ่มต้นสร้างความยั่งยืนให้แก่ตลาดทุนไทย” ทั้งนี้ ในวงเสวนาได้มีการพูดคุยถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคม โดยมี จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิก ASEAN Parliamentarians for Human Rights สิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ Empower Asia ประจำประเทศไทย และสิริยา บิชอพ ทูตสันถวไมตรีของ UN Women ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อสร้างความเป็นผู้นำเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมของผู้หญิง (Women Equality) โดยมีการโยนคำถามให้ผู้ร่วมรับฟังร่วมแชร์ประสบการณ์ หรืออุปสรรคใดบ้างที่ผู้หญิงต้องก้าวผ่านเพื่อไปสู่ความสำเร็จ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดการทำงานเป็นนักธุรกิจไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำงานด้านสังคม ต่อเมื่อได้มาดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงทำให้เห็นการทำงานกับสตรีในทุกระดับ เช่น การทำงานเรื่องผ้าไทยกับสตรีกลุ่มทอผ้า พบว่าผ้าไทยเป็นลมหายใจของผู้หญิงไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากของไทย ดังนั้น การส่งเสริมและผลักดันพลังของสตรีจึงไม่ควรจำกัดแต่เพียงในภาคธุรกิจ แต่ควรส่งเสริมพลังของผู้หญิงภาคประชาชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และทำให้พบว่าสิ่งที่หญิงไทยในชนบทต้องการคือองค์ความรู้ด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจเรื่องต้นทุน กำไร หากมีการต่อยอดของ ก.ล.ต. อยากให้มีการอบรมหรือติดอาวุธทางปัญญาให้กับสตรีในชุมชน เชื่อว่าจะผลักดันศักยภาพของผู้หญิงได้ทุกภาคส่วน ขณะที่ ‘นวลพรรณ ล่ำซำ’ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราอยากให้คนยอมรับผู้หญิงในสภาพความเป็นจริง และความยินยอมพร้อมใจ แต่อุปสรรคของการก้าวสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น หรือการทำงานของผู้หญิง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าคือ Unconscious Bias หรือ การเกิดอคติโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคนที่จะแก้ไขสิ่งนี้ได้ดีที่สุดก็คือตัวผู้หญิงเอง ไม่มีใครที่จะเชิดชูผู้หญิงได้ดีเท่าตัวผู้หญิงเอง เพราะถ้าอคติเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือผู้หญิงด้วยกันเอง จะทำให้ผู้หญิงเติบโตในสายงานใดไม่ได้เลย การปลดล็อกอคติเป็นสิ่งจำเป็นและเชื่อว่าการปลดล็อกอคติดังกล่าวก็ทำให้ผู้หญิงหลายคนก้าวสู่การเป็นเจ้าของทรัพย์สินหลายอย่างได้” สำหรับมุมมองของ ‘อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล’ อดีต CEO TISCO กล่าวเสริมว่า การยอมรับสตรีในด้านสังคมนับว่าได้รับการพัฒนามาพอสมควรแล้วทั้งด้านกฎหมายและการยอมรับ ดูจากสถิติต่าง ๆ ที่ยกมา แต่สำหรับตัวผู้หญิงเอง ต้องก้าวผ่านUnconscious Bias กับตัวเอง วิธีคือหนึ่งต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่รอให้ใครมาตัดสินคุณค่าของเรา องค์กรต่าง ๆ จะต้องกระตุ้นสร้างจิตสำนึกให้ผู้หญิงมีความรู้สึกรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง เข้าใจตัวเอง รู้จุดแข็ง จุดด้อยของตัวเอง โดยไม่ต้องมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นสร้างความรู้สึกที่เป็นบวก พัฒนาจุดแข็งและขีดความสามารถให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆจนกระทั่งเกิด Self-confidence และถึงจุดหนึ่งที่คนจะมองข้ามจุดอ่อนของเราไป อย่ามุ่งเน้นที่ความอ่อนแอ แต่ผู้หญิงเราสามารถพัฒนาหลายอย่าง เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น” ด้าน ‘จิราพร ขาวสวัสดิ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ผู้บริหารหญิงในธุรกิจน้ำมันมักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ‘ผ่านด่านมาได้ยังไง’ เธอบอกว่า “ความเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในองค์กรระดับใหญ่ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเราทำหน้าที่อะไร และเรามองเรื่องงานในลักษณะไหนที่จะทำให้งานองค์รวมสำเร็จ ดังนั้น การสร้างผู้หญิงให้เติบโต มีตัวตน และแข็งแกร่งด้วยศักยภาพความสามารถ ต้องมาจากทั้ง 360 องศาขององค์กรให้การยอมรับ โดยองค์กรก็ต้องใช้ระบบการประเมินผลนี้โดยไม่ต้องแยกอายุ หรือ เพศ แต่เรายอมรับกันที่ความสามารถและผลงาน หากนำไปใช้ทั้งในภาคราชการหรือภาคเอกชน เราจะก้าวสู่สากลได้โดยที่ไม่แยกชายหรือหญิง ทั้งหมดนี้…เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการร่วมหารือและปักธงสร้างพลังผู้หญิงร่วมกันของเหล่าผู้บริหาร เชื่อว่าการรวมตัวอย่างหลวมๆ ในครั้งนี้จะสร้างพลังและเครือข่ายที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต