“โอกาสสถาน” การจองจำปราศจากเรือนจำ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน และการสาธารณสุข ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนจึงเร่งระดมกำลังและความคิด ในการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ ให้แก่ประเทศชาติ

เช่นเดียวกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีวิสัยทัศน์ในการช่วยเหลือสังคมมายาวนาน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับภาครัฐและเอกชน หรือในรูปแบบของการเรียนการสอนที่ไม่เพียงมุ่งสร้างให้นักศึกษามีความรู้ความเชี่ยวชาญทางสถาปัตย์ แต่ยังปลูกฝังแนวคิดช่วยเหลือสังคมและชุมชนผ่านทางโปรเจ็กต์การเรียนต่างๆ ของคณะ อย่างเช่นโครงการ Kluynamthai Innovative Industries District (KIID) ซึ่งคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมมือกับ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เพื่อพัฒนาย่านกล้วยน้ำไทให้กลายเป็นย่านนวัตกรรม

ล่าสุด คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังได้จัดทำโครงการ “โอกาสสถาน” ซึ่งเป็นการทำความร่วมมือกับสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทยและทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้นำคณะอาจารย์และนักศึกษาของคณะเข้าไปออกแบบอาคารเรือนนอนให้แก่เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง เรือนพธำมรงค์ ภายในอำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันบริเวณดังกล่าวใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมอาชีพสำหรับผู้ต้องขังหญิงใกล้ปลดปล่อย การเข้าไปร่วมออกแบบเรือนนอนก็เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อการทำงานของผู้ต้องขัง นอกจากนี้เรือนพธำมรงค์ยังเป็นอาคารไม้โบราณอายุร่วม 100 ปีซึ่งมีคุณค่ายิ่งในฐานะมรดกของชาติ จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำชั้นสองของอาคารให้เป็นพิพิธภัณฑ์บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของที่นี่ ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาคารหลังนี้และออกแบบนิทรรศการที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน 

“คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการจะบอกเล่าถึง Dark to Light ซึ่งเป็นการนำเรื่องราวจากคนข้างในเรือนจำมาเล่าสู่คนข้างนอก” ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงแนวคิดในการจัดทำนิทรรศการครั้งนี้ “โดยเราสะท้อนเรื่องราวในนิทรรศการผ่านแก้วน้ำ เนื่องจากเมื่อผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำ เขาจะได้แก้วน้ำคนละใบ บางคนจะแสดงตัวตนเป็นเจ้าของแก้วนำ เช่น เขียนชื่อลงไป วาดตัวการ์ตูน หรือติดสติ๊กเกอร์ เพื่อให้แตกต่างจากของเพื่อน นอกจากนี้น้ำยังเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต การที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็คือการเทน้ำเก่าออก แล้วเปลี่ยนน้ำใหม่เข้าไป ที่นี่จึงเป็นเหมือนที่ของการสร้างชีวิตใหม่ ที่แห่งโอกาส และที่แห่งการเติมน้ำใหม่เข้าไป โดยหวังว่านี่จะเป็นโอกาสให้กับคนในเรือนจำ  ต่อไปเมื่อพวกเขาแข็งแรงขึ้น มีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น และได้ออกไปสู่สังคมภายนอก เขาก็จะให้โอกาสแก่คนอื่นๆ และตอบแทนสังคมต่อไป” 

นอกจากการพัฒนาพื้นที่ภายในเรือนจำชั่วคราวกลางเวียง และร่วมอนุรักษ์เรือนพธำมรงค์ พร้อมทั้งออกแบบนิทรรศการแล้ว ทางคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังได้รับโอกาสจากสำนักงานกิจการยุติธรรม ให้ไปนำเสนอแนวคิด Imprison Without Prison (การจองจำปราศจากเรือนจำ) ผ่านโครงการ “โอกาสสถาน” นี้ด้วย โดยคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ ด้วยการให้นักศึกษาของคณะไปออกแบบและปรับปรุงห้องกักกันโรคระบาดภายในเรือนจำให้ถูกต้องตามสุขลักษณะและเป็นไปตามแนวทาง Social Distancing ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน เช่น สถาปนิกจากกองออกแบบและก่อสร้างกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวยังคงต้องมีการพัฒนาต่อ แต่ก็หวังว่าแนวคิดในการสร้างห้องกักกันโรคระบาดภายในเรือนจำนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไป

จึงกล่าวได้ว่า โครงการ “โอกาสสถาน” โอกาสคืนความสุขให้แก่ผู้ต้องขังของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นี้ ไม่เพียงบ่มเพาะให้นักศึกษามีความรู้ทางวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังปลูกฝังสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และเพื่อนมนุษย์ เพื่อที่จะก้าวออกไปเป็นสถาปนิกที่สมบูรณ์ สมกับนิยามที่ ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปรียบเปรยไว้ว่า “สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบความสุข” พร้อมทั้งปลูกฝังสถาปนิกในอนาคตให้นึกถึงเสมอว่า “สถาปัตยกรรมที่เราออกแบบต้องไปช่วยให้ชีวิตใครสักคนดีขึ้น”